วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ชั้นบรรยากาศ

บรรยากาศ คือ อะไร
อากาศที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา และที่หุ้มห่อโลกจากตั้งแต่พื้นดินขึ้นไป จนถึงระดับที่สูงสุดในท้องฟ้าเราเรียกว่า บรรยากาศ อากาศ หรือบรรยากาศ เป็นส่วนผสมของก๊าซต่าง ๆ รวมทั้งไอน้ำ ซึ่งระเหยมาจากพื้นน้ำในแหล่งต่างๆและได้จากการคายน้ำของพืชด้วย อากาศที่ไม่มีไอน้ำอยู่ด้วยเราเรียกว่า อากาศแห้ง ส่วนอากาศที่มีไอน้ำปนอยู่ด้วยเราเรียกว่า อากาศชื้น ไอน้ำในบรรยากาศมีอยู่ระหว่างร้อยละ 0–4 ของอากาศทั้งหมด แต่ไอน้ำเป็นส่วนผสมสำคัญยิ่งของอากาศ เพราะไอน้ำเป็นสาเหตุของการเกิดฝน ลม พายุ ฟ้าแลบและฟ้าร้อง อากาศแห้งมีส่วนผสมของอากาศโดยประมาณ ดังนี้
ส่วนประกอบของบรรยากาศ
อากาศแห้ง ประกอบด้วยแก๊สต่างๆ ดังนี้
** ไนโตรเจน 78
** ออกซิเจน 21 %
** อาร์กอน 0.93 %
** ก๊าซ อื่น ๆ 0.07 %
ตามปกติในธรรมชาติจะไม่มีอากาศแห้งแท้ ๆ อากาศทั่วไปส่วนใหญ่จะเป็นอากาศชื้น คือ มีไอน้ำอยู่ด้วยตั้งแต่ร้อยละ 0–4 ซึ่งหมายความว่า ถ้าอากาศชื้นมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะมีไอน้ำอยู่อย่างมากได้เพียง 40 กรัม เมื่ออากาศมีไอน้ำปนอยู่ด้วยจำนวนส่วนผสมของก๊าซอื่นก็จะเปลี่ยนแปลงไปบางเล็กน้อย
ไอน้ำ เกิดขึ้นได้จากการระเหยของน้ำจากทะเล มหาสมุทร แหล่งน้ำต่างๆ ที่ได้รับ
พลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ และการคายน้ำของพืช ไอน้ำในอากาศจะมากหรือน้อย
ขึ้นกับอุณหภูมิ ถ้าอุณหภูมิสูงปริมานไอน้ำในอากาศก็จะมากกว่าที่อุณหภูมิต่ำ
ฝุ่นละออง เป็นของแข็งที่มีขนาดเล็กมากลอยปะปนในอากาศ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
1. ฝุ่นละอองจากธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิด ไฟป่า
2. ฝุ่นละอองจากกิจกรรมมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง โรงงานอุตสาหกรรม
ฝุ่นละอองทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะของหยดน้ำในอากาศ ทำให้หยดน้ำสามารถลอยอยู่และรวมตัวกันเป็นเมฆได้ แต่ถ้ามีฝุ่นมากจะทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลง เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
สามารถแบ่งออกได้ 3 แบบ ดังต่อไปนี้
แบ่งโดยใช้อุณหภูมิเป็นเกณฑ์ แบ่งได้ 4 ชั้น
แบ่งโดยใช้ก๊าซเป็นเกณฑ์ แบ่งได้ 4 ชั้น
แบ่งทางอุตุนิยมวิทยา แบ่งได้ 5 ชั้น
ก๊าซที่เกี่ยวกับชั้นบรรยากาศที่สำคัญมีอยู่ 2 ก๊าซคือ
โอโซน(ozone)เป็นก๊าซที่สำคัญมากต่อมนุษย์ เพราะช่วยดูดกลืนรังสีอุลตราไวโอเลตที่มาจากดวงอาทิตย์ ไม่ให้ตกสู่พื้นโลกมากเกินไป
ถ้าไม่มีโอโซนก็จะทำให้รังสีอุลตราไวโอเลตเข้ามาสู่พื้นโลกมากเกินไป ทำให้ผิวหนังไหม้เกรียม แต่ถ้าโอโซนมีมากเกินไปก็จะทำให้รังสีอุลตราไวโอเลต
มาสู่พื้นโลกน้อยเกินไปทำให้มนุษย์ขาดวิตามิน D ได้ โดยโอโซนนี้เป็นก๊าซที่ประกอบด้วย ออกซิเจน 3 อะตอมรวมกัน
ซีเอฟซี (CFC=Chlorofluorocarbon)เป็นก๊าซที่ประกอบด้วย คาร์บอน ฟลูออรีน คลอรีน ซึ่งได้นำมาใช้ในอุตสาหกรรมบางชนิด เช่น ผลิตพลาสติก โฟม ฯ โดยก๊าซCFCนี้มีนำหนักเบามาก ดังนั้น เมื่อปล่อยสู่บรรยากาศมากขึ้นจนกระทั่งถึงชั้นสตราโตสเฟียร์ CFCจะกระทบกับรังสีอุลตราไวโอเลตแล้วแตกตัวออกทันทีเกิดอะตอมของคลอรีนอิสระที่จะเข้าทำปฏิกริยากับโอโซน ได้สารประกอบมอนอกไซด์ของคลอรีน และก๊าซออกซิเจน จากนั้น สารประกอบมอนอกไซด์จะรวมตัวกับอะตอนออกซิเจนอิสระ เพื่อที่จะสร้างออกซิเจนและอะตอมของคลอรีน ปฏิกริยานี้จะเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด โดยคลอรียอิสระ 1 อะตอมจะทำลายโอโซนไปจากชั้นบรรยากาศได้ถึง 100,000โมเลกุล
การจำแนกบรรยากาศโดยใช้อุณหภูมิเป็นเกณฑ์
แบ่งได้ 4 ชั้นดังนี้
1. โทรโพรสเฟียร์ อยู่ระหว่าง 0-10 กม. โดยอุณหภูมิจะค่อยๆลดลงตามความสูง โดยเฉลี่ยกม.ละ 6.5องศา c เป็นชั้นที่สำคัญมากเพราะเป็นบริเวณที่มีไอนำ เมฆ หมอก และพายุ
2. สตราโตสเฟียร์ อยู่ระหว่างความสูง 10-50 กม. เป็นชั้นที่ไม่มีเมฆ มักใช้ในการเดินทางทางอากาศ โดยอุณหภูมิจะคงที่ จนถึงความสูง 50 กม. และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตรา0.5 องศา c ต่อ1กม.
3. มีโซสเฟียร์ เป็นชั้นบรรยากาศระหว่าง 50-80 กม. โดยอุณหภูมิจะลดลงตามความสูง
4. เทอร์โมสเฟียร์ ตั้งแต่ 80-500กม. อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงแรกแล้วอัตราการสูงขึ้นจะลดลง
อุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง 227-1727 องศา c โดยชั้นนี้จะมีความหนาแน่นของอนุภาคต่างๆจางมาก แต่ก๊าซต่างๆ ในชั้นนี้จะอยู่ในลักษณะที่เป็นอนุภาคที่เป็นประจุไฟฟ้าเรียกว่า อิออน สามารถสะท้อนคลื่นวิทยุได้
บรรยากาศในชั้นนี้ถือเป็นบริเวณที่เปลี่ยนจากบรรยากาศของโลกมาเป็นก๊าซระหว่างดาวที่เบาบาง และเป็นชั้นนอกสุดของบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลก เรียกว่า เอกโซสเฟียร์ โฮโมสเฟียร์ คือ ชื่อเรียกบรรยากาศชั้น โทรโพรสเฟียร์ สตราโตสเฟียร์และมีโซสเฟียร์รวมกัน
แบ่งชั้นบรรยากาศโดยใช้ก๊าซเป็นเกณฑ์
แบ่งได้ 4 แบบ คือ
1. โทรโพสเฟียร์ เป็นบรรยากาศที่อยู่ติดกับพื้นโลก สูง 0-10 กม. มีก๊าซที่สำคัญคือ ไอน้ำ
2. โอโซโนสเฟียร์ เป็นชั้นบรรยากาศสูง10-50 กม. มีก๊าซที่สำคัญคือ โอโซน
3. ไอโอโนสเฟียร์ เป็นชั้นบรรยากาศสูง 80-600 กม. มีสิ่งที่สำคัญคือ อิออน
4. เอกโซเฟียร์ เป็นชั้นบรรยากาศซึ่งสูงตั้งแต่ 600 กม. ขึ้นไป โดยความหนาแน่นของอะตอมต่างๆมีค่าน้อยลง
การแบ่งชั้นบรรยากาศทางอุตุนิยมวิทยา
แบ่งได้ 5 ชั้น ดังนี้
1. บริเวณที่มีอิทธิพลความฝืด ระหว่าง 0-2 กม.
2. โทรโพสเฟียร์ชั้นกลางและบน อุณหภูมิจะลดลงสม่ำเสมอ ตามความสูง
3. โทรโพพอส เป็นเขตแบ่งว่า มีไอน้ำกับไม่มีไอน้ำ
4. สตราโตสเฟียร์ มีโอโซนมาก
5. บรรยากาศชั้นสูง คล้ายกับเอกโซสเฟียร์

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)
ตามที่ทราบกันมาในตอนก่อนนี้แล้วว่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตหรือที่เรียกกันว่า ทรัพยากรชีวภาพนี้ มีจำนวนมากมายมหาศาลและหลากหลายแตกต่างกันออกไป สภาพธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายดังกล่าวนี้ ปัจจุบันเรียกรวม ๆ กันว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity หรือ Biodiversity) ดังนั้น ความหมายของคำว่าความหลากหลายชีวภาพก็คือ สภาพธรรมชาติที่มีสิ่งมีชีวิตจำนวนมากและมีความหลากหลายแตกต่างกันไป
ความหลากหลายแตกต่างของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาหรือความหลากหลายทางชีวภาพนี้แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะคือ
1. ความหลากหลายในพันธุกรรม (Genetic Diversity)
เป็นลักษณะของความหลากหลายแตกต่างทางพันธุกรรมของบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลายซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ และเพราะว่าในธรรมชาติมีความหลากหลายกันในทางพันธุกรรมนี่เอง ทำให้เรามีข้าวนับร้อยสายพันธ์ (variety) เป็นข้าวหอมมะลิ ข้าเหลืองปะทิว ข้าวเล็บมือนาง ข้าวตะเภาแก้ว ข้าวสะพานควาย ฯลฯ โดยที่ทุก ๆ สายพันธุ์ที่ยกตัวอย่างมานี้ก็คือ ข้าวที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Oryza sativa Linn เหมือนกัน
2. ความหลากหลายในชนิดพันธุ์ (Species Diversity)
เป็นลักษณะที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายมีความหลากหลายแตกต่างกันไปในด้านชนิดพันธุ์ และด้วยลักษณะทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตในแง่นี้เอง ทำให้ป่าดิบแล้ง (dry evergreen forest) ของไทยเรามีพรรณไม้ยืนต้นกว่า 50 ชนิด ป่าดิบชื่น (tropical rain forest) มีไม้ยืนต้นมากกว่า 100 ชนิด เป็นต้นว่า ไม้สัก ไม้สน ไม่พยอม ไม้แดง ฯลฯ และป่าเต็งรัง (mixed deciduous forest) มีประมาณ 31 ชนิด (species) เป็นต้น
3. ความหลากหลายทางระบบนิเวศ (Ecosystem Diversity)
ลักษณะความหลากหลายแตกต่างกันของสิ่งมีชีวิตทางระบบนิเวศ ก็คือการที่ในสภาพธรรมชาตินั้น สิ่งมีชีวิตที่หลากหลายเหล่านี้ต่างก็อาศัยอยู่ในระบบนิเวศที่แตกต่างกันไปเช่น บางชนิดอาจจะอาศัยอยู่ในระบบนิเวศของป่าบก (terrestrial ecosystem) บางชนิดอาศัยอยู่ในระบบนิเวศของป่าชายเลน (mangrove ecosystem) และก็มีบางชนิดอาศัยอยู่ตามชายฝั่ง (coastal ecosystem) ฯลฯ เป็นต้น
ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)
ความหมายของความหลากหลายทางชีวภาพ คือ สภาพธรรมชาติที่มีสิ่งมีชีวิตจำนวนมากและมีความหลากหลายแตกต่างกันไปและพร้อมกันนี้ก็ได้แนะนำรูปแบบหรือลักษณะของความหลากหลายทางชีวภาพไว้ด้วย ซึ่งมีอยู่ด้วยกันคือ ความหลากหลายในพันธุกรรม (Genetic Diversity) อันได้แก่ ความหลากหลายแตกต่างกันทางพันธุกรรมของบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ความหลากหลายในชนิดพันธุ์ (Species Diversity) คือสิ่งมีชีวิตทั้งหลายมีความหลากหลายแตกต่างกันไปในด้านชนิดพันธุ์และความหลากหลายทางระบบนิเวศ (Ecosystem Diversity) หมายถึงสิ่งมีชีวิตต่างก็มีความหลากหลายด้านที่อยู่อาศัยในระบบนิเวศแตกต่างกันไป ความหลากหลายทางชีวภาพในแง่ต่าง ๆ อันได้แก่ ความรู้พื้นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ สถานการณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ แนวทางในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยต่อไป
พื้นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ
ก่อนที่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์และแนวทางการอนุรักษ์รักษาความหลากหลายทางชีวภาพโดยละเอียดต่อไปนั้น จำเป็นที่จะต้องรู้ถึงพื้นฐานทั่ว ๆ ไปเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพโดยตรงเยก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อเท็จจริงที่ว่าวิทยาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพนี้ ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มปรากฏขึ้นในวงการชีววิทยายุคปัจจุบันในช่วงตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2523 หรือเมื่อประมาณ 2 ทศวรรษเป็นต้นมา
ความเป็นมา
ทุก ๆ ชีวินในโลกนี้ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ถ้าพิจารณากันในภาพรวมแล้วจะพบว่าทั้งหมดต่างก็ดำเนินชีวิตกันอยู่ในชั้นบาง ๆ ของแถบธรรมชาติแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการมีชีวิตซึ่งห่อหุ้มผิวโลกของเราอยู่ ธรรมชาติแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการมีชีวิตทั้งหลายบนผิวโลกนี้ ถ้ามองในระดับโลกแล้วจะพบว่ามีลักษณะเป็นเพียงแถบชั้นบาง ๆ ที่จำกัดอยู่ระหว่างชั้นของความร้อนที่หลอมละลายอยู่ภายใต้พื้นพิภพกับความหนาวเย็นเยือกแข็งของห้วงอวกาศขึ้นไปเบื้องบนอันจะหาที่สุดไม่ได้ ในทางนิเวศวิทยาเราเรียกแถบของสภาพธรรมชาติแวดล้อมที่มีสิ่งมีชีวิตหลากหลายอาศัยอยู่นี้ว่า ชีวมณฑล (Bioshere) ไปโอสเฟียร์นี้ถือว่าเป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้นเอกภพ (Universe) ที่เอื้ออำนวยต่อการมีชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายและแถบของไบโอสเฟียร์หรือมณฑลที่หุ้มห่อโลกของเรานี้ มีขอบเขตที่จำกัดอยู่ระหว่างจุดที่ต่ำสุดในระดับลึกลงไปใต้ท้องมหาสมุทร และจุดสูงสุดที่ระดับสูงขึ้นไปในบรรยากาศเหนือพื้นโลกไม่เกิน 15 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนกันแล้วก็จะมีความหนากเท่ากับผิวอันบอบบางของส่วนที่เป็นผิวเรียบมันที่ห่อหุ้มลูกบอลเลียดไว้เท่านั้นเอง
มนุษย์ชุดแรกที่เป็นผู้ให้คำบรรยายถึงรูปร่างลักษณะอันเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่มีที่ใดอีก รวมทั้งความอ่อนไหวบอบบางของชีวมณฑลในสภาพเป็นจริงจากระยะไกลก็คือบรรดานักบินอวกาศ (astronauts) ทั้งหลายที่มีโอกาสบินออกไปนอกโลกในช่วงนั้นของปี พ.ศ. 2500 หรือ เมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้ว (Lean, and Hinrichen, 1992) ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครที่จะได้เห็นภาพของไบโอสเฟียร์หรือแถบธรรมชาติแวดล้อมที่มีชีวิตนี้จริง ๆ กันเลย อย่างมากก็เป็นเพียงจินตนาการลักษณะรูปร่างของไบอาสเฟียร์ว่าเป้นส่วนของผิวโลกรวมกับบางส่วนของบรรยากาศ (เมฆ หมอก ความชื้น แสง และกระแสลม) ที่อยู่เหนือพื้นโลกขึ้นไปกับสิ่งมีชีวิตหลากหลายที่คลาคล่ำกันอยู่ในส่วนนี้เท่านั้น
จากภาพจริงของโลกที่มองผ่านอวกาศมาจากที่สูงถึง 35,680 กิโลเมตรนี้ ทำให้เรามองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผิวของโลกเรานี้ส่วนใหญ่จะถูกปกคลุมด้วยสีฟ้าของน้ำทะเลและสีขาวของปุยเมฆกับน้ำแข็ง อันนี้เป็นการบ่งชี้ว่าโลกของเรานี้คือดาวเคราะห์ น้ำ หรือ water plamet เพราะกว่า 70% ของพื้นผิวเป็นน้ำทั้งหมด ชีวิตทุกรูปแบบไม่ว่าพืช สัตว์ จุลินทรีย์ ล้วนแต่วิวัฒนาการขึ้นมาจากน้ำในมหาสมุทรนานนับล้านปีมาแล้ว และขณะนี้ชีวิตต่าง ๆ ดังกล่าวก็ยังมีการหาทางปรับปรุงพัฒนาให้ดาวเคราะห์ดวงนี้ยังสามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยต่อไปได้อีกและในรูปแบบที่มั่นคงยั่งคืนตลอดไป
สำหรับวิถีทางในการดำรงของบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ ปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนระหวางสภาพดินฟ้าอากาศ (climate), ธรณีวิทยา (geology) ประเภทต่าง ๆ ของดิน (Soil types), ทรัพยากรน้ำ (water resource), และตำแหน่งเส้นรุ้ง (latitude) เหล่านี้จะเป็นตัวที่กำหนดว่าพื้นที่ของโลกในแต่ละส่วนนั้นควรจะมีพื้นและสัตว์ชนิดใดที่จะอาศัยอยู่ได้และด้วยพื้นฐานดังกล่าวนี้นักวิทยาศาสตร์จึงแบ่งโลกเราออกเป็น 14 เขตทางนิเวศวิทยา (ecological region) เขตทางนิเวศวิทยานี้เรียกว่า ไบโอม (biome) หรือนัยหนึ่งไบโอมก็คือ ระบบนิเวศใหญ่ ๆ ของโลกนี่เอง โดยสภาพธรรมชาติแล้วถือว่าไบโอมทั้ง 14 ประเภทนี้เป็นธรรมชาติแวดล้อมที่ยังชีวิตให้แก่พืชพรรณต่างๆ รวมน้ำหนักชีวภาพไม่ต่ำกว่า 1012 ตัน ซึ่งอันนี้คือผู้ผลิต (producers) ที่มีปริมาณมหาศาล ที่รองรับชีวิตที่มีรูปแบบหลากหลายแตกต่างกันของผู้บริโภค (consumers) ประเภทต่างๆ ในชีวมณฑลหรือไบโอสเฟียร์นั้นเอง
เป็นที่ยอมรับกันในเวลานี้แล้วว่ามนุษย์ชาตินี่เองเป็นตัวการที่ทำให้พื้นโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างใหญ่หลวง อาทิ พื้นที่ทะเลทรายกำลังขยายกว้างออกไปเรื่อย ๆ หนึ่งในสามของส่วนที่เป็นผืนแผ่นดินของโลกถูกคุกคามจากการที่กำลังจะกลายไปเป็นทะเลทราย กล่าวคือ พบว่าในทุก ๆ ปีพื้นที่ที่สามารถใช้สำหรับการเพาะปลูกได้จะถูกทำลายจนเปลี่ยนสภาพไปเป็นที่ที่จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ไม่ได้อีกแล้วถึง 37 ล้านไร่ และอีกประมาณ 130 ล้านไร่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมถึงระดับที่ปลูกอะไรไม่ได้ผลคุ้มค่าแม้จะเปลี่ยนไปเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ก็ตาม นอกจากนี้ป่าสีเขียวของโลกก็ถูกทำลายลงทุก ๆ ปีเช่น
เมื่อประมาณหมื่นปีมาแล้วโลกเรายังปกคลุมไปด้วยป่าเกือบครึ่งโลก แต่ในปัจจุบันพบว่าป่าถูกทำลายไปแล้วกว่า 3/4 ของผืนป่าเดิมที่เคยมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าดิบชื้นในเขตร้อน (Tropical rain forest) ซึ่งถือว่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยบนกว่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยบนบก (terrestrial habitat) ที่เก่าแก่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุด ก็ยังถูกทำลายลงถึง 100-200 ล้านไร่/ปี นอกจากนี้ยังพบว่าทั้งพรุที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้และพันธุ์สัตว์เฉพาะถิ่น, ปะการัง, ป่าชายเลน, หนองบึงและพื้นที่ที่เป็นต้นน้ำลำธาร (watershed) ก็ถูกทำลายจนมีพื้นที่ลดลงอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ปี
จากการที่ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลายจนลดลงไปเรื่อย ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ชีวิตในรูปแบบต่างๆ หลายชนิด (species) ก็พลอยสูญพันธุ์หายไปจากโลกด้วยเช่นกัน ประมาณกันว่าอัตราการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์บางชนิดในปัจจุบันนี้เป็นไปในปริมาณที่สูงถึง 25,000 เท่าของอัตราที่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีการทำนายกันด้วยว่าก่อนสิ้นศตวรรษที่ 20 นี้จะมีสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์รวมกันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านชนิด ต้องสูญพันไปจากโลกตลอดกาลโดยไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อีก (Lean and Hinrichen, 1992) ในบรรดาสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้วนี้ มีหลายชนิดที่มนุษย์เรายังไม่ทันจะรู้จักหรือไม่ทันนำมาศึกษาเพื่อจัดให้เข้าอยู่ในระบบการจัดแบ่งพืชและสัตว์ เพื่อตั้งชื่อให้ตามระบบสากลต่อไป อาทิพืชพันธุ์ป่า (wild species) หลายชนิดถือว่าเป็นทรัพยากรพันธุกรรมที่มีคุณค่ายิ่ง สำหรับมนุษย์ชาติจะใช้เป็นหลักประกันในด้านพัฒนาพืชพันธุ์ต่าง ๆ หลายชนิดมีคุณค่าในด้านเป็นวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมทั้งการแปรรูป สีธรรมชาติ และเภสัชกรรม ฯลฯ เป็นต้น และในปัจจุบันนี้พบว่ามีเพียงเศษเสี้ยวจากจำนวนเพียง 1% ของพรรณพืชที่มีประโยชน์เหน่านี้เท่านั้น ที่มนุษย์รู้จักคุณค่าดังกล่าว
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจและเรียนรู้ หากเรายังต้องการความมั่นใจในสวัสดิภาพอันยั่งยืน ในแบ่ต่าง ๆ ทั้งด้านอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยของมวลมนุษย์ ทั้งที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันและกำลังจะเกิดตามมาในอนาคต
ความสำคัญ
เมื่อ พ.ศ. 2523 สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐหรือ National Academy of Science ได้จัดพิมพ์รายงานเรื่อง “ลำดับความสำคัญของงานวิจัยต่าง ๆ ทางด้านชีววิทยาในเขตร้อน (Research Priorities in Tropical Biology) ขึ้น ซึ่งผู้เขียนรายงานได้กล่าวไว้ในเอกสารนี้ตอนหนึ่งว่า “การทำลายพรรณพืชที่เกิดขึ้นกับป่าเขตร้อนของโลก ได้เป็นสิ่งดึงดูดความสนใจจากประเทศต่าง ๆ จำนวนมาก รวมทั้งองค์กรนานาชาติต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ และถ้าการทำลายป่ายังคงดำเนินอยู่ต่อไป ในอัตราดังที่เป็นอยู่อย่างในปัจจุบันนี้จนถึงศตวรรษที่ 21 ผลเสียที่เกิดขึ้นก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก่วิถีทางของวิวัฒนาการในระดับโลก ซึ่งจะทำให้มนุษย์ชาติต้องประสบความทุกข์ยากเดือดร้อนนานัปการและอย่างกว้างขวางทั่วถึงกันหมด และที่สำคัญคือ มนุษย์จะต้องสูญเสียความรู้ต่างๆ สำหรับนำไปใช้ในการปรับปรุงแก้ไขหรือบรรเทาความรุนแรงของผลเสียอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา เป็นต้นว่า เมื่อพรรณพืชที่เป็นสมุนไพรในป่าถูกทำให้สูญพันธ์หายไปจากโลก มนุษย์ก็จะหมดโอกาสที่จะนำสารที่มีคุณประโยชน์จากสมุนไพรที่สูญพันธุ์ไปแล้วทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ศึกษาคุณสมบัตินั้นมาใช้บำบัดโรคร้ายแรง ๆ ที่ยังค้นหายาจากสารเคมีมารักษาไม่ได้ เป็นต้น
1. ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นทรัพยากรของโลก (Global Resource)
เมื่อ พ.ศ. 2531 สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐ ได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ Biodiversity หรือความหลากหลายทางชีวภาพออกมา โดยมี Dr.E.O.Wilson แห่งพิพิทธภัณฑ์ชีววิทยาเปรียบเทียบ (Museum of Comparative Zoology) มหาวิทยาลัย Harvard เป็นบรรณาธิการ ดร.วิลสันได้เน้นย้ำในเรื่องความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพตามที่เคยเขียนในรายงานเมื่อปี พ.ศ. 2523 หรือ 8 ปีก่อน ว่าดังนี้ “เราจะเป็นต้องดำเนินการในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพอย่างจริงจัง โดยถือว่าสิ่งนี้คือทรัพยากรโลก (Global Resource) ต้องมีการจัดทำทะเบียนเอาไว้อย่างเป็นระบบ มีการศึกษาหาทางนำไปใช้ประโยชน์และเหนืออื่นใดต้องมีการอนุรักษ์เอาไว้” การที่เลานี้มนุษย์ชาติทั่วโลกต้องร่วมกันให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเร่งด่วนนั้น เนื่องมาจากสาเหตุ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก การเพิ่มของประชากรโลกในอัตราที่สูงและอย่างรวดเร็ว ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศต่างๆ ของภูมิภาคในเขตร้อน (tropics) ประการที่สอง วิทยาศาสตร์สามารถค้นพบวิธีการใหม่ ๆ ของการนำความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพมาใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของมวลมนุษย์และการทำลายสภาพแวดล้อม และประการที่สาม ปัจจุบันนี้พบแล้วว่าความหลากหลายที่เคยมีอยู่อย่างมากกมายได้สูญสิ้นไปเป็นจำนวนมากจากการสูญพันธุ์ (extinction) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยโดยมนุษย์ และก็เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้วคือมักจะเกิดขึ้นในภูมิภาคเขตร้อนของโลก เพื่อหาวิธีที่ถูกต้องเหมาะสมและอย่างชาญฉลาดในการจะอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรชีวภาพหลากหลายต่าง ๆ เหล่นี้ มนุษย์ในยุคปัจจุบันจึงจำเป็นต้องเร่งระดมกันศึกษาหาความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพเสียตั้งแต่บัดนี้
อนาคตแห่งการอยู่รอดของป่าเขตร้อนที่กระจายกันอยู่ตามประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเขตร้อนของโลก ได้กลายเป็นตัวบ่งชี้ถึงอนาคตแห่งการอยู่รอดของความหลากหลายางชีวภาพของประเทศที่กำลังพัฒนาไปด้วยซึ่งความจริงแล้วก็หมายถึงของทั่วโลกนั่นเอง ความสำเร็จและความล้มเหลวจากการที่มนุษย์พยายามจะอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าหนทางเดียวที่เราจะสามารถหยุดการเสื่อมโทรมร่อยหรอของความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังอยู่ในเวลานี้ได้ ก็โดยการประสานเข้าด้วยกันระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยมีความรู้ด้านระบบนิเวศและบทบาทชุมชนในที่นั้น ๆ เป็นพื้นฐานที่สำคัญ แม้ในขณะนี้เรารู้แล้วว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของการสูญเสียความหลากหลายางชีวภาพนั้นมาจากอะไร แต่เราก็เพิ่งจะเริ่มต้นที่จะเข้าใจการกำหนดยุทธวิถีต่างๆ อันเป็นพื้นฐานในการที่จะอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้นเอง
2. ความหลากลายทางชีวภาพเป็นแหล่งสะสมทางพันธุกรรม (Genetic Storehouse)
เมื่อพิจารณากันในแง่ทางพันธุกรรมแล้ว เราจะพบว่าหากจะมีสิ่งมีชีวิตไม่ว่าชนิดใด ๆ ถูกทำให้สูญพันธุ์ไปจากโลกแม้จะเป็นเพียงชนิด (species) เดียวก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นการสูญเสียที่มีความสำคัญและน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะสิ่งมีชีวิตแต่ละรูปแบบนั้นเปรียบเสมือนเป็นแหล่งสะสมสารบางอย่างที่จะหาจากที่อื่นมาแทนไม่ได้อีก (irreplaceable substances) ดังนั้นเมื่อคนเรายังไม่ทันได้นำสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ไม่ว่า จุลินทรีย์พืช และสัตว์มาศึกษาหาทางใช้ประโยชน์ แต่เมื่อมาถูกมนุษย์เรานั้นเองทำลายจนสูญพันธุ์ไป จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายและเสียใจเป็นอย่างยิ่งและในปัจจุบันนี้ก็เป็นที่ตระหนักกันเป็นอย่างดีแล้วว่า ความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ชาตินั้น มีราเหง้ามาจากความอุดสมบูรณ์และความเหมาะสมของธรรมชาติ การเกษตรกรรมเกิดขึ้นได้ก็เพราะมนุษย์เรารู้จักนำพืชที่เป็นพันธุ์ป่าที่ขึ้นอยู่ในธรรมชาติมาทำให้เป็นพันธุ์ปลูก ต่อมาก็รู้จักกปรับปรุงพันธุ์ปลูกเหล่านี้ให้มีผลผลิตสูงขึ้นจากวิธีคัดพันธุ์ และจากนั้นมาโดยการอาศัยทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ เป็นปัจจัยหลักในการผลิต การปฏิรูปทางอุตสาหรรมการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็เริ่มขึ้นและดำเนินเรื่อยมาจนปัจจุบัน ทรัพยากรทางพันธุกรรมต่างๆ (Genetic resources) ที่ได้มาจากธรรมชาติในป่าเหล่านี้ แม้ในปัจจุบันก็ยังเป็นตัวสืบทอดความมั่นคงยั่งยืนของสังคมในเวลานี้อยู่โดยเป็นแหล่งที่มาของยารักษาโรคต่างๆ อาหาร และวัตถุดิบของอุตสาหกรรมทุกประเภท
มีการประเมินกัน (พ.ศ. 2535) ว่ายากรักษาโรคที่เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติในป่านั้นในปีหนึ่งๆ จะมีมูลค่าถึง 40 พันล้านเหรียญสหรัฐ (Lean,and Hinrichen, 1992) เช่น พืชชนิดที่มีชื่อสามัญว่า Foxgloves มีสาร digitoxin และ digitalis ซึ่งช่วยชีวิตคนจำนวนล้านจากโรคหัวใจ สาร Codeine และ morphine ได้จากต้นฝิ่น (popies) ต้นไม้บางชนิดจาอเมซอนให้สาร quinine ที่มนุษย์ใช้ต่อสู้กับโรคมาลาเรียมานานแล้ว สารบางชนิดจากต้นเกาลัดที่ข้นในอ่าว Moreton Bay ของออสเตรเลียมีลู่ทางว่าจะยับยั้งเชื้อ HIV ได้ ต้น Pacific yew ซึ่งมีอยู่มากมายแถบภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐ ปกติพืชชนิดนี้จะถูกผาทิ้งในฐานะที่เป็นวัชพืช จนกระทั่งปี พ.ศ. 2534 มีผู้พบว่าต้น Pacitic yew นี้มีสารต่อต้านมะเร็งที่สำคัญยิ่งและมีการศึกษากันว่าปัจจุบันมีพรรณไม้ป่าเขตร้อน 1,400 ชนิด รวมทั้งสัตว์ทะเลอีก 500 ชนิดที่มีศักยภาพสำหรับใช้ต่อสู้กับโรคมะเร็งได้ แต่กว่าทรัพยากรชีวภาพที่มีค่าเหล่านี้จะถูกค้นพบเพื่อนำมาเป็นประโยชน์ของมนุษย์ พืชและสัตว์ดังกล่าวก็ต้องถูกทำให้สูญพันธ์ไปจำนวนมากเสียก่อนแล้ว
3. ความหลากหลายทางชีวภาพมีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชอาหารโลก (The Health of Harvest)
นอกจากทรัพยากรทางพันธุกรรมซึ่งได้มาจากความหลากหลายทางชีวภาพจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจและสวัสการของมนุษย์ ในแง่เป็นที่มาของยารักษาโรคและวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมตามที่กล่าวมาแล้ว ปรากฏว่าความอุดมสมบูรณ์ให้ผลผลิตอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยของบรรดาพืชชนิดต่างๆ ที่ประชากรโลกใช้เป็นอาหารยังต้องขึ้นอยู่กับทรัพยากรพันธุกรรมนี้ด้วย จะเห็นว่าพืชอาหาร 3 ชนิด คือ ช้าวสาลี, ข้าว และข้าวโพด นั้นเป็นแหล่งอาหารของโลกกว่า 50% และเมื่อรวมอีก 4 ชนิด คือ มันฝรั่ง ข้าวบาร์เลย์ มันเทศ และมันสำปะหลัง เข้าด้วยแล้ว ทั้ง 7 ชนิดนี้เป็นที่มาของอาหารสำหรับพลโลกถึง 2/3 ของทั้งหมด อย่างไรก็ตามการที่มีปริมาณความพอเพียงของอาหารสำหรับพลโลก จำต้องขึ้นอยู่กับพืชเพียงไม่กี่ชนิดดังที่กล่าวมานี้ กลับเปิดหนทางให้โรคเกิดระบาดที่รุนแรงและกว้างขวางได้ง่าย จากการที่มนุษย์นิยมปลูกพืชแต่เพียงชนิดเดียวในพื้นที่กว้างขวางและปลูกซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ดังเช่นกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับการปลูกมันฝรั่งซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวยุโรปที่ประเทศไอร์แลนด์เมื่อปี พ.ศ. 2383 ในช่วงนั้นได้เกิดการระบาดของโรคมันฝรั่งอย่างร้ายแรงจนไม่มีผลผลิต ทำให้ชาวไอริซอดอาหารตายไปถึง 1/5 ของประชากรทั้งหมดในเวลานั้น
ตามปกตินั้นพืชปลูกชนิดต่าง ๆ จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเชื้อพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดความทนทานต่อการระบาดทำลายของศัตรูพืชต่าง ๆ รวมทั้งเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชในทุก ๆ 5-15 ปี ทั้งนี้เป็นเพราะศัตรูพืชชนิดต่างๆ สามารถจะปรับตัวเข้าทำลายพืชชนิดที่เคยมีความทนทานต่อการระบาดทำลายได้ วิธีแก้ไขที่ได้ผลก็มีอยู่วิธีเดียวคือ การผสมกันเองระหว่างพืชชนิดเดียวกันแต่ใช้สายพันธุ์ที่ต่างกัน เช่น ข้าวพันธุ์ กข.5 อ่อนแอต่อการระบาดทำลายของเพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาล เราก็เอาข้าวพันธุ์ กข.5 ไปผสมกับข้าวพันธุ์ กข.11 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ทนทานต่อเพลี้ยชนิดนี้ ลูกผสมก็จะเป็นข้าว กข. ที่ทนทานต่อการระบาดของเพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาลต่อไปได้อีก 5-15 ปี จนกว่าแมลงชนิดนี้จะพัฒนาตัวเองเข้าทำลายข้าวพันธุ์ใหม่ที่เป็นลูกผสมนี้ได้
ที่กล่าวมานี้เราเห็นว่าความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ต่อพืชที่เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงพลโลก เพราะการที่ในธรรมชาติมีความหลากหลายแตกต่างของชนิดพันธุ์ หรืพันธุกรรม นั้น ทำให้มนุษย์มีทางเลือกสำหรับใช้ต่อสู้กับการระบาดทำลายของศัตรูพืชต่างๆ ได้ดังที่กล่าวมาแล้วในทางตรงกันข้ามถ้ามนุษย์ในทุกวันนี้มุ่งจะทำลายป่าอันเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญยิ่งของความหลากหลายทางชีวภาพ ในไม่ช้าเมื่อป่าหมดถิ่นที่อยู่อาศัยธรรมชาติของทรัพยากรชีวภาพที่หลากหลายเหล่านี้ก็สูญสิ้นไป ในที่สุดมนุษย์นั้นเองก็จะถูกปล่อยให้ต่อสู่กับความอยากหิวโหยและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อย่างโดดเดียว และปราศจากอาวุธใด ๆ ที่จะนำมาต่อสู้แก้ไขปัญหาเหล่านี้อีกต่อไป
4. ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นทรัพยากรสำหรับอนาคต (Resource for the Future)
สำหรับพืชหลายชนิดที่สามารถจะนำมาเป็นอาหารอย่างใหม่ของมนุษย์โลกนั้นก็มีแหล่งที่มาจากพืชพันธุ์ป่าในธรรมชาติ ประมาณกันว่าพืชที่มนุษย์นำมาเป็นอาหารนั้นมีประมาณ 3,000 ชนิด และมีอีก 1 ใน 4 ของจำนวนพืชที่รู้จักแล้วคือ 75,000 ชนิด เป็นพืชที่ใช้เป็นอาหารได้ ต้นหญ้าชนิดหนึ่งที่เรียกชื่อสามัญว่า Job’s Tears เป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก แต่ปัจจุบันยังเป็นธัญในพืชที่ไม่ได้รับการพัฒนาพืชจากปารากวัยชนิดหนึ่งให้ความหวานเป็น 300 เท่าของน้ำตาล แต่เป็นสารที่ไม่ให้พลังงาน (calorie free substance) และพบว่ามีต้นกาแฟชนิดที่ไม่มีคาเฟอีนอยู่ที่ Comoros Islands ในประเทศมาดากาสคา นอกจากนี้ยังมีพืชบางชนิดเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในสภาพที่แห้งแล้ง เช่น หญ้าชนิดหนึ่งในประเทศออสเตรเลียสามารถให้ผลผลิตได้สูงเป็นปกติ แม้จะให้น้ำเพียงครั้งเดียว จากตัวอย่างที่ยกมานี้ทำให้เห็นได้ว่า แหล่งพันธุกรรมจากป่าธรรมชาตินั้นยังมีความสำคัญและเป็นที่ต้องการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่พื้นที่อาศัยบนพื้นโลกนั้นจะขยับขยายออกไปอีกไม่ได้
ในด้านอุตสาหกรรมนั้นก็ขึ้นอยู่กับพันธุ์พืชป่าจากความหลากหลายทางชีวภาพด้วยเช่นกัน ไม้และยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบที่มีบทบาทอย่างมากสำหรับยางพารานั้นสมัยดั้งเดิมพบว่าชาวอเมริกันอินเดียน ทางภาคใต้ของสหรัฐนำมาทำเป็นของเล่นให้เด็ก ส่วนยางไม้ (gum) เช่น gum Arabic เป็นส่วนผสมของหมึก เครื่องเสริมสวย ของหวาน สี และผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม พวกน้ำมันปาล์มก็เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์กว่า 100 อย่าง จากไอศกรีมไปจนถึงเครื่องยนต์เจท อย่างไรก็ตามปรากฏว่าปัจจุบันปาล์มในโลกมีอยู่ 28,000 ชนิด มีเพียงไม่กี่ชนิดที่นักวิทยาศาสตร์นำมาค้นคว้าวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์
5. ความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพทางชีวภาพทำให้เกิดการตื่นตัวในการรักษาสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันให้คงอยู่ (Saving the Unknown)
ปัจจุบันนี้ปรากฏว่าเพียงเศษส่วนจาก 1% ของสิ่งมีชีวิตของโลกเท่านั้นที่ได้มีการนำมากศึกษาค้นคว้ากันอย่างจริงจังเกี่ยวกับศักยภาพที่จะเป็นประโยชน์ ในด้านเป็นยารักษาโรค และอาหารและอุตสาหกรรม เท่าที่นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มาแล้วเป็นจำนวนประมาณ 1.4 ล้านชนิดนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการแนะนำเผยแพร่หรือยังไม่เป็นที่รู้จักกันและคาดกันว่ายอดรวมของสิ่งมีชีวิตในโลกมีอยู่ทั้งหมด 10 ล้าน species จากประมาณการครั้งล่าสุดคาดว่าจะมีอยู่ถึง 80 ล้านชนิด ซึ่งจากกค่าตัวเลขโดยประมาณดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่าโอกาสที่เราจะค้นพบวิธีรักษาโรคร้ายที่ปัจจุบันยังหาทางรักษาไม่ได้ พืชมหัศจรรย์ต่างๆ และวัตถุดิบทางอุตสาหกรรม ก็ยังคอยมนุษย์เราอยู่และพร้อม ๆ กันก็มีจำนวนมากที่ถูกทำลายไปเสียก่อนโดยที่ไม่ทันได้ตั้งชื่อให้เป็นที่รู้จักกัน
กว่า 30 ปีมาแล้วมีการตั้งเขตรักษาพืชพันธุ์ปก่าขึ้นแต่ก็ยังมีเพียงไม่กี่แห่งและมีการตั้งธนาคารพันธุกรรมแห่งชาติ (national geme bank) ขึ้นมาประมาณ 60 ประเทศ เพื่อเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute) ในฟิลิปปินส์ทำการวบรวมสายพันธุ์ข้าว (strains) ไว้กว่าครึ่งหนึ่งของพันธุ์ข้าวทั่วโลก และทำนองเดียวกับศูนย์ปรับปรุงพันธุ์ข้าวสาลีและข้าวโพดนานาชาติ (International Mize and wheat Improvement Center) ในประเทศแม๊กซิโกก็เก็บรวบรวมสายพันธุ์ข้าวสาลีและข้าวโพด 12,000 สายพันธุ์จาก 47 ประเทศ อย่างไรก็ตามการเก็บเมล็ดพันธุ์นั้นไม่ใช่วิธีรักษาเชื้อพันธุ์ไว้ได้ตลอดกาลเพราะมีการเสื่อมอายุได้และมักถูกเชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่ายอีกด้วย
ปัจจุบันภายหลังที่มีการตระหนักถึงคุณค่าอันมหาศาลของทรัพยากรพันธุกรรมกันโดยทั่วไปแล้ว ประเทศต่างๆ รวมทั้งบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องต่างก็ต่อสู้แย่งชิงความเป็นเจ้าของกัน มีประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาบางประเทศถือเอาว่าทรัพยากรพันธุกรรมในประเทศเหล่านั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของตนและยกเลิกการส่งออกของทรัพยากรเหล่านี้ และก็มีบางประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกาอ้างกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของวัตถุทางพันธุกรรมที่ตนไปเที่ยวรวบรวมมาทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีบริษัทเอกชนใหญ่ ๆ หลายแห่งเที่ยวกว้านซื้อบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์มาไว้เป็นของตน ในจำนวนนี้มีอยู่ 10 บริษัทที่ปัจจุบันเป็นเจ้าของเข้าควบคุมธัญพืชชนิดต่างๆ เป็นปริมาณถึง 1/3 ของจำนวนชนิดธัญญพืชทั่วโลกที่ OECD หรือองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development) ได้รวบรวมไว้ ปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้เป็นที่หวั่นเกรงกันว่า ถ้าบริษัทเมล็ดพันธุ์และบริษัทเคมีภัณฑ์ทางเกษตรสามารถร่วมมือกันได้แล้ว สิ่งที่น่ากลัวและจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ก็คือบริษัทดังกล่าวสามารถจะผสมพันธุ์พืชพันธุ์ใหม่ออกมา ซึ่งเป็นพันธุ์ที่จำเป็นต้องใช้สายป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่บริษัทนี้เพียงบริษัทเดียวผลิตขึ้นเท่านั้น จึงจะสามารถควบคุมความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ (Lean, and Hinrichen,, 1992)
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ภายหลังที่เจรจากันยืดเยื้อถึง 4 ปี ในที่สุดประเทศกลุ่มที่ร่ำรวยและกลุ่มที่ยากจนก็ตกลงร่วมกัน ให้มีอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการป้องกันรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ (convention to protect biological diversity) แต่ข้อตกลงนี้สร้างความผิดหวังในอันที่นานาชาติจะร่วมมือกันป้องกันรักษาทรัพยากรอันมีค่านี้ไว้ เนื่องจากข้อตกลงตามอนุสัญญานี้เป็นไปอย่างกว้าง ๆ และหละหลวมประเทศที่ยากจนทั้งหลายซึ่งปกติเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติใหญ่ของโลก พากันไม่รับรองข้อเสนอของประเทศร่ำรวยเกี่ยวกับขั้นตอนรายละเอียดในการป้องกันรักษาทรัพยากรชีวภาพดังกล่าว ขณะเดียวกันบรรดาประเทศที่ร่ำรวยแล้วต่างก็พากันอิดเอื้อนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีในการสำรวจหาคุณค่าจากแหล่งพันธุกรรมป่าที่บรรดาประเทศยากจนเป็นเจ้าของ อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลก (Earth Sumrnit, 1992) สิ้นสุดลง ปรากฏว่ามีสมาชิกสหประชาชาติรวม 153 ประเทศ ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันรักษาความหลากหลายทางชีวภาพดังกล่าว รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ขณะเดียวกันในด้านชีวิตสัตว์ป่า (wild life) นั้นปรากฎว่าปัจจุบันนี้การสังหารหมู่สัตว์ป่าบางชนิดก็ยังดำเนินอยู่ ซึ่งพฤติกรรมฆ่าทำลายจนต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ถือว่าเป็นการขัดจังหวะการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก ที่ได้บังเกิดขึ้นมานานถึง 4 พันล้านปีมาแล้ว ขณะนี้การวิวัฒนาการของธรรมชาติดังกล่าวก็ยังเป็นไปอยู่ เมื่อปี พ.ศ. 2529 นักวิทยาศาสตร์ทางชีววิทยาชั้นนำของสหรัฐ 9 คน ได้กล่าวเตือนว่าการรุกรานทำลายสัตว์ป่าจนสูญพันธุ์กันไปเรื่อย ๆ นี้ถือเป็นการคุกคามต่อความเจริญรุ่งเรืองของมนุษยชาติ ซึ่งมีความรุนแรงเป็นอันดับสองภัยจากสงครามเธอร์โมนิวเคลียร์ (thermonuclear war) ผลเกิดขึ้นที่ตามมานั้นไม่สามารถจะคำนวณได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้ไว้คือ กว่าชีวิตใดชีวิตหนึ่งจะฟื้นขึ้นมาได้นั้นกินเวลาเป็นล้านล้านปี
การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Loss of Biodiversity)
ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศที่ปรากฏขึ้นทั่วโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อนนั้น ได้มีการศึกษาและรายงานผ่านสื่อต่าง ๆ โดยนักวิทยาศาสตร์กันอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น ป่าดิบชื้นที่ราบลุ่ม (moist lowland forests) ในเขตร้อน ซึ่งจนกระทั่งเร็ว ๆ นี้เคยเป็นชุมชนบนบกของเขตร้อน ที่ถือว่าได้รับความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด แต่พบว่าปัจจุบันนี้ได้ถูกมนุษย์เข้าบุกเบิกขยายขอบเขตกว้างออกไปเรื่อย ๆ การที่ป่าเหล่านี้ซึ่งเชื่อกันว่ามีทรัพยากรชีวภาพชนิดต่าง ๆ มากกว่าครึ่งหนึ่งที่มีในโลก สามารถคงสภาพต่อการบุกรุกทำลายอยู่ได้นานกว่าระบบนิเวศอื่นๆ ก็เพราะการเข้าไปจัดการใดเพื่อใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศของปาชนิดนี้กระทำได้ยาก ต่างกับพวกป่าเบญจพรรณ และชุมชนพืชอื่นๆ ของป่าเขตร้อนที่ถูกทำลายไปก่อนหน้านี้นานมาแล้ว โดยทั่วๆ ไปป่าดิบชื้นในที่ลุ่มมักจะมีสภาพดินที่เป็นประเภทขาดธาตุอาหาร มีลักษณะเป็นกรด และผิวหน้าดินถูกชะล้างง่ายเมื่อมีฝนตกหนัก สภาพเหล่านี้ทำให้ยากต่อการที่จะใช้ดินเพื่อการเกษตรกรรมแผนใหม่หรือป่าไม้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันป่าดังกล่าวนี้ถูกแผ้วถางเพื่อทำไร่เลื่อนลอย เป็นที่เลี้ยงปศุสัตว์ ปลูกไม้เชื้อเพลิง รวมทั้งเปลี่ยนสภาพเป็นไร่ไม้ยืนต้น ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้เท่ากับเป็นการเร่งให้ป่าดั้งเดิมในเขตร้อนชื้นเสื่อมโทรมหมดสภาพเร็วขึ้นและหากไม่มีการควบคุมพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุให้ป่าเสื่อมโทรมเสียตั้งแต่บัดนี้ เป็นที่คาดกันว่าภายในศตวรรษใหม่นี้ป่ามีค่าของโลกเหล่านี้ก็คงจะหมดไปหรือถ้าจะหลงเหลืออยู่บ้างก็จะเป็นเพียงหย่อมป่าขนาดเล็ก ๆ ที่กระจัดกระจายกันเท่านั้น
สำหรับผลกระทบสำคัญ ๆ ที่เกิดจากป่าเขตร้อนถูกทำลาย ได้แก่
1) สภาพดินฟ้าอากาศประจำถิ่นหรือภูมิภาคที่อยู่บริเวณป่าที่ถูกทำลาย จะเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณฝนและฤดูกาล
2) การผลิตทางด้านชีวภาพจะเปลี่ยนแปลงไป
3) เป็นการเร่งอัตราการพังทลายของดินให้เร็วขึ้น
4) ทำลายสภาพสมดุลของแห่งต้นน้ำลำธาร
5) เพิ่มปริมาณแก๊สเรือนกระจก (greenhouse gasses) ซึงจะมีผลกระทบไปถึงสภาพดินฟ้าอากาศของโลกต่อไปด้วย เช่น ปรากฎการณ์ของเอ็ลนิญโยและลาลิน่า เป็นต้น
ในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพนั้น การทำลายป่าดั้งเดิมที่มีอยู่ในเขตร้อน ถือว่าเป็นสาเหตุที่สำคัญแห่งการสูญพันธุ์ของชีวิตป่าจำนวนมหาศาล สำหรับชนิดต่างๆ ของชีวิตป่าทั้งพืชและสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปนี้ไม่มีโอกาสจะทราบได้ อย่างไรก็ตามคุณค่าเฉพาะตัวของสิ่งมีชีวิต่างๆ
ในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพนั้น การทำลายป่าดั้งเดิมที่มีอยู่ในเขตร้อนถือว่าเป็นสาเหตุที่สำคัญแห่งการสูญพันธุ์ของชีวิตป่าจำนวนมหาศาล สำหรับชนิดต่าง ๆ ของชีวิตป่าทั้งพืชและสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปนี้ไม่มีโอกาสจะทราบได้ อย่างไรก็ตามคุณค่าเฉพาะตัวของชีวิตต่าง ๆ เหล่านี้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติก็พลอยหายสาบสูญตามไปด้วยและแม้ว่าในปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบกันดีพร้อมทั้งมีความวิตกห่วงใย เกี่ยวกับอัตราการทำลายป่าในเขตร้อนชื้นที่เพิ่มมากขึ้นและเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้นทุก ๆ ปีก็ตาม แต่ขณะเดียวกันก็ขยายขนาดของความเสื่อมโทราและหมดสภาพของระบบนิเวศและถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตามธรรมชาติ ก็ยังขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์ทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมชั้นแนวหน้าของโลกต่างก็ลงความเห็นไปในทางเดียวกันแล้วว่า ขณะนี้มนุษย์ชาติกำลังมาถึงช่วงวิกฤตสำหรับการที่จะอนุรักษ์และศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพกันอย่างจริงจังแล้วและโอกาสนี้เป็นเพียงโอกาสเดียวที่จะหาไม่อีก
สำหรับสาเหตุที่มองเห็นได้ของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนั้นก็คือสาเหตุที่มาจากสิ่งมีชีวิตรวมทั้งคน แต่ฐานของปัญหานั้นมาจากขบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดำเนินอยู่ในระดับโลกในปัจจุบัน ดังนั้นการทำความเข้าใจต่อปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์องค์ประกอบของปัญหานี้ทั้งด้านชีวภาพและด้านสังคม รวมทั้งความร่วมมือกันในระดับนานาชาติ เพื่อที่จะพัฒนายุทธวิธีในการแก้ไขและจัดการทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่ายิ่งต่อไป
การแบ่งประเภทและขนาดของความหลากหลายทางชีวภาพ
1. ประเภทของความหลากหลายทางชีวภาพ
ปัจจุบันนักชีววิทยาแบ่งประเภทความหลากหลายทางชีวภาพออกเป็น 3 ประเภท คือ
1) ความหลากหลายทางระบบนิเวศ (Ecosystem Diversity) หมายถึงความหลากหลายแตกต่างกันในระบบนิเวศที่มีสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดอาศัยอยู่รวมกัน ในโลกของเรามีความหลากหลายแตกต่างกันของระบบนิเวศมากมาย ทั้งบนบกและในน้ำ เช่น ป่าเขตร้อน ป่าผลัดใบ ป่าเขตร้อนขึ้น เขตอบอุ่น ป่าสน ทุ่งหญ้าเขตร้อน ทุ่งหญ้าเขตอบอุ่น ทะเลทราย บึง ทะเลสาบ เป็นต้น สำหรับของไทยก็มีความหลากหลายทางระบบนิเวศเช่นเดียวกัน เช่น ป่าดงดิบ ป่าผสม ผลัดใบ ป่าสน ป่าพรุ ป่าชายเลน บึง ลำน้ำ หมู่ปะการัง เป็นต้น
2) ความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ (Species Diversity) หมายถึง ความหลากหลายแตกต่างของชนิดพันธุ์ (species) ของสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในระบบนิเวศต่างๆ ตามธรรมชาติระบบนิเวศใดที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรหรืออยู่ในเขตร้อน ก็จะมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าชนิดสูงกว่าในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว สำหรับในประเทศไทยป่าดงดิบหรือเรียกกันว่าดิบชื้น มีความหลากหลายของชนิดมากที่สุดและมากกว่าป่าชนิดอื่น เช่น ป่าผลัดใบ หรือ ป่าชายเลน เป็นต้น
3) ความหลากหลายทางพันธุกรรม (Genetic Diversity) หมายถึงความแตกต่างหลากหลายทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ตามธรรมชาติสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมี “ยีน” จำนวนมาก ทำหน้าที่ควบคุมลักษณะต่างๆ และองค์ประกอบทางพันธุกรรมของพืชหรือสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ซึ่งในสภาพธรรมชาติในป่าลักษณะต่างๆ และองค์ประกอบทางสายพันธุ์นี้จะมีความแตกต่างหลากหลายกันมากมาย หลายหมื่นหลายแสนรูปลักษณะ ทั้งนึ้ขึ้นอยู่กับจำนวนยีนและลักษณะของผสมพันธุ์และแพร่พันธุ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ ความหลากหลายทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตดังกล่าวนี้จะมีประโยชน์แก่การวิวัฒนาการและปรับตัวเองของสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ความหลากหลายของพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันแต่อยู่ในระบบนิเวศที่ต่างกัน ก็อาจมีความแตกต่างกันได้
2. การวัดขนาดของความหลากหลายทางชีวภาพ (Measuring Biodiversity)
ความรู้ในด้านปริมาณหรือจำนวนของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ถือว่าเป็นแกนหลักในการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นข้อมูลในการประมาณการหรือการคาดคะเนในเชิงปริมาณของสิ่งมีชีวิตประเภทต่างๆ ในระบบนิเวศที่พวกนี้อาศัยอยู่ อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับเรื่องจำนวนของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่าตัวเลขที่นำมาแสดงไว้นี้ ถือว่าได้มาจากการคาดคะเนที่ทำอย่างดีที่สุดไม่ใช่จำนวนที่แท้จริง และอีกประการหนึ่งหากเราไม่แน่ใจจำนวนที่ถูกต้องของพืชหรือสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งที่เราสามารถควบคุมได้ เช่น จำนวนต้นข้าวในแปลงนา 1 ไร่ หรือจำนวนข้าวลี้ยงทั่วประเทศเสียแล้ว งานในการคาดคะเนพืชและสัตว์ดังกล่าวในสภาพที่ข้าวในธรรมชาติก็ยิ่งจะยากขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ
ปัจจุบันนี้เป็นที่เข้าใจร่วมกันแล้วว่าความหลากหลายทางชีวภาพ คือพื้นฐานอันจำเป็นที่จะขาดเสียไม่ได้ หากมนุษย์ชาติยังต้องการมีความเป็นอยู่ที่ดีและมั่นคงตลอดไป แต่ในขณะที่เรามีความตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นของทรัพยากรชีวภาพดังกล่าวนี้ สิ่งหนึ่งที่กำลังเผชิญหน้ามวลมนุษย์ทั่วทั้งโลกและจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ คือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเขตร้อนอันเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญนี้ นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนี้เห็นตรงกันว่า วิธีการที่มีประสิทธิภาพในการที่จะลดหรือชะลอการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ คือการศึกษาหาข้อมูลความรู้ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเพิ่งจะได้รับความสนใจกันอย่างกว้างขวางไปทั่วโลกเมื่อไม่เกิน 2 ทศวรรษมานี้เองเสียก่อน
ในเวลานี้ความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของความหลากหลายทางชีวภาพของโลกในด้านต่างๆ ยังมีช่องว่างอยู่อีกมากมายและความบกพร่องไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารดังกล่าวทำให้การศึกษาวินิจฉัยถึงขนาดความรุนแรงของผลกระทบ ซึ่งจะเกิดจากการสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นไปอย่างคุลมเครือไม่ชัดเจนและอยู่ในวงแคบ ว่ากันแต่เพียงคำถามง่ายๆ แต่มีความสำคัญ สำหรับใช้เป็นวิธีทำความเข้าใจกับความหากหลายทางชีวภาพ เป็นต้นว่า ในถิ่นที่อยู่อาศัยประเภทใดประเภทหนึ่งนั้น มีสิ่งมีชีวิตอยู่กี่ชนิดและในจำนวนที่เท่าใด สิ่งมีชีวิตบางชนิดเราจะพบได้ที่ไหน และพวกนี้มีบทบาทในระบบนิเวศเป็นอย่างไร สถานภาพในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร มีอยู่ทั่ว ๆ ไปหายาก ใกล้จะสูญพันธุ์ไปแล้ว คำถามง่ายๆ เหล่านี้ปัจจุบันเราก็ยังตอบได้ไม่สมบูรณ์
ขณะนี้มีสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แล้วรวมกัน 1.4 ล้านชนิด แต่ในจำนวนนี้ กลุ่มสัตว์ที่ถือว่าได้รับการตั้งชื่อไปจนเกือบครบทุกชนิด (species) ที่มีอยู่ในกลุ่มนั้น ๆ มีอยู่เพียงไม่กี่กลุ่มและก็เป็นกลุ่มที่เราคุ้นเคยอยู่แล้วเท่านั้น เช่น กลุ่มสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังพืชในกลุ่มแองจิโอสเปิร์ม สำหรับกลุ่มอื่น ๆ ของสิ่งมีชีวิตอีกจำนวนมาก รวมทั้งถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญต่างๆ เช่น แนวปะการังในธรรมชาติ พื้นทะเลมหาสมุทรที่อยู่ในส่วนลึก พื้นผิวดินในป่าและบริเวณที่เป็นเรือนยอดของแนวไม้ ฯลฯ เหล่านี้ยังมีข้อมูลการศึกษาน้อยมาก จากที่กล่าวมานี้จะเป็นว่าความรู้ทางวิชาการที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น เป็นเพียงแค่ส่วนเดียวที่จะใช้สำหรับการคาดคะเนหรือประมาณการถึงความอุดมสมบูรณ์และการแพร่กระจายของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ และเห็ดรา ชนิดที่เราคุ้นเคยและพบเห็นได้เสมอ ๆ เท่านั้น
1. ลำดับความสำคัญของงานวิจัยที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ (Priority of Research Actions on Biodiversity and Its Conservation)
งานวิจัยทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ ทั้งทางด้านชีวภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น จำเป็นต้องมีกิจกรรมต่างๆ ของทุกสาขาที่กล่าวมานี้ ดำเนินการไปด้วยกันและในทุกสภาพระบบนิเวศและทุกระดับของการพัฒนาประเทศ กล่าวคือ ระดับเป็นโครงการ ระดับชาติ และระดับระหว่างประเทศ ในการดำเนินการตามที่กล่าวมานี้ สภาวิจัยแห่งชาติของสหรัฐได้ให้คำแนะนำให้มีการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัย ดังต่อไปนี้
1) ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาให้มากขึ้นหน่วยงานที่มีความเหมาะสมที่จะเข้ามารับผิดชอบกิจกรรมการวิจัยในด้านนี้คือ มหาวิทยาลัยต่างๆ พิพิทธภัณฑ์และกระทรวงของรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ ทั้งนี้ทุกหน่วยงานดังกล่าวจะต้องมีความพร้อมทั้งด้านเงินทุนอุดหนุน เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ และด้านบุคลากร สำหรับจัดตั้งหน่วยติดตามตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพสูง และเพื่อให้หน่วยงานอื่นสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ร่วมงานกันได้
2) สนับสนุนให้มีสถานที่สำหรับดำเนินการศึกษาวิจัยทางด้านนิเวศวิทยาระยะยาว เพื่อให้เป็นสถานที่ทำการติดตามตรวจสอบระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง ผลงานวิจัยที่ได้จากกิจกรรมด้านที่จะนำไปใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาระบบนิเวศรวมทั้งการปรับสภาพแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
3) หน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาระดับประเทศ จำเป็นจะต้องเข้ามามีบทบาทของการจัดทำภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือที่เรียกว่าภูมิปัญญาในท้องถิ่นให้เป็นระบบเป็นกรณีพิเศษ เป็นที่ราบกันดีในขณะนี้แล้วว่าความรู้ที่เป็นมรดกตกทอดกันมานับหลายชั่วอายุคน ทั้งความรู้ที่เกี่ยวกับชนิดของสิ่งมีชีวิตหลากหลายในป่า และระบบนิเวศในธรรมชาติ ฯลฯ นั้นมีอยู่แล้วอย่างมากมายในสถานที่ที่ชนบทและห่างไกลต่าง ๆ แต่ความรู้ดังกล่าวนี้ยังไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารวิชาการระดับนานาชาติเลย และคุณค่าของภูมิความรู้ประจำถิ่นดังกล่าวนี้ยากมีบุคคลทั่วไปจะเข้าใจได้ ยกเว้นนักวิชาการที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ เท่านั้น
4) สนับสนุนงานวิจัยประเภทที่มีลักษณะพื้นฐานกว้าง (broad-base research) ทั้งหลาย ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาต่างๆ รวมทั้งงานศึกษาค้นคว้าถึงผลกระทบจากโครงการพัฒนาเหล่านี้ ที่อาจจะมีต่อความหลากหลายชีวภาพ รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากการตัดโค่นทำลายป่า การสร้างเขื่อน สร้างถนน โครงการสร้างนิคมที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ การนำพันธุ์พืชชนิดใหม่หรือองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตทางการเกษตรใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดรอบคอบถึงผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อขบวนการต่างๆ ของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศของเรา
5) ให้ความสนับสนุนผู้ร่วมงานวิจัยทั้งหลายที่มีการประสานงานโครงการร่วมมือให้เกิดความสามารถที่จะดำเนินการวิจัยในลักษณะที่เป็นสหวิทยาการระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นหนักทางการประเมินและติดตามตรวจสอบ ผลกระทบจากิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการพัฒนาประเทศที่ดำเนินการอยู่ต่อความหลากหลายทางธรรมชาติและผลงานก้าวหน้าของวิจัยในแบบสหวิทยาการนี้ ควรเสนอยังผู้บริหารระดับสูงของประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้รับผิดชอบต่อโครงการฯ จะต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนในด้านความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างความหลากหลายทางธรรมชาติและภูมิปัญญาในท้องถิ่นกับการใช้ประโยชน์จากทรัพากรที่มีอยู่ และประการสุดท้ายก็ควรจะดำเนินการที่จะแปรสภาพของความเข้าใจและความตระหนักในเรื่องดังกล่าวของประชาชนไปเป็นนโยบายของรัฐต่อไป
6) สนับสนุนการศึกษาค้นคว้าประเภทที่มีขอบเขตการดำเนินการที่กว้างแต่กระทำเป็นครั้งคราว ในเรื่องที่เกี่ยวกับปฏิบัติการต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจ ที่จะมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การศึกษานี้ควรเน้นไปในทางนโยบายเศรษฐกิจระดับมหาภาคและยุทธวิธีในการดำเนินการพัฒนา ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ข้อมูลความรู้จาการศึกษาวิจัยเหล่านี้สามารถจะใช้เป็นแนวทางในการให้ข้อสรุปด้านความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ ในการพัฒนากับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ในการศึกษาวิจัยดังกล่าวควรมีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากกิจกรรมต่าง ๆ ในการพัฒนาที่มีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อการเกษตรกรรมและกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจอื่นๆ และมีการวิเคราะห์ไปถึงคุณประโยชน์ที่จะบังเกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย รวมทั้งผลกระทบที่อาจจะมีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพดินฟ้าอากาศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ผลกระทบต่อแหล่งต้นน้ำลำธาร น้ำท่วมฉับพลัน และทรัพยากรชายฝั่ง อาทิ สภาพทางทะเล ปะการัง การประมงชายฝั่งและการท่องเที่ยว เป็นต้น
2. เทคโนโลยีในการศึกษาความหลากหลายของทรัพยากรพันธุ์พืช
เมื่อปี พ.ศ. 2528 อุตสาหกรรมทางด้านเภสัชของสหรัฐอเมริกา ใช้งบประมาณเพื่อผลิตยาต่างๆ เป็นจำนวน 4.1 พันล้านเหรียญ ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มจากปี 2524 ถึง 11.6% และในปีเดียวกันนี้ผู้บริโภคชาวอเมริกันใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อยาจากร้านขายยาในชุมชนต่างๆ ซึ่งสารออกฤทธิ์ของยาเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้มาจากพืชเป็นมูลค่าถึง 3 พันล้านเหรียญ และจากการสำรวจพบว่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา มียาที่ประกอบด้วยสารจากพืชถึง 25% ในจำนวนยารักษาโรคที่มีจำหน่ายในสหรัฐ อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้ามกับข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ปรากฏว่าไม่มีบริษัทผลิตยาในสหรัฐแม้แต่บริษัทเดียว ที่มีโครงการวิจัยเพื่อดำเนินการศึกษาค้นคว้าหาสารตัวยาใหม่ๆ จากพืชอย่างจริงจัง
1) ความสำคัญของยารักษาโรคที่ได้จากพืชสมุนไพรในระดับโลก
ในปี พ.ศ. 2527 ฟาร์นเวิร์ธและคณะสำรวจพบว่า สารเคมีในรูปสารบริสุทธิ์ที่สกัดจากพืชชั้นสูงเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคนั้นมีอยู่ทั่วโลกประมาณ 119 ชนิด และอย่างน้อยมีอยู่เมื่อได้มาแล้วสามารถนำไปใช้รักษาโรคได้เพียงไม่กี่ชนิด และการที่จะให้ความนิยมใช้พืชสมุนไพรเป็นไปอย่างกว้างขวางได้ ก็จำเป็นจะต้องมีการทดสอบทั้งทางเคมีและทางเภสัชกรรม ที่เกี่ยวกับสารออกฤทธิ์ชนิดต่างๆ ที่มีในพืชนั้นๆ องค์การอนามัยโลกประมาณ 85% ของประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายยังจำเป็นต้องพึ่งพาการแพทย์แผนโบราณ สำหรับบริการทางด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน และ 85% ของการบำรุงรักษาผู้ป่วยโดยวิธีแพทย์แผนโบราณนี้ต้องใช้ยาจากสมุนไพรทั้งสิ้นและจากตัวเลขข้อมูลขององค์การอนามัยโลกดังกล่าวนี้แสดงว่าประชากรโลกประมาณ 3.5 ถึง 4 พันล้านคนต้องอาศัยจากพืชสมุนไพร
2) สถานภาพด้านการค้นคว้าหาสารพืชสมุนไพรใหม่ ๆ ในปัจจุบัน
ปัจจุบันมีบางประเทศที่ให้ความสนใจและให้การสนับสนุนอย่างจริงจังสำหรับการศึกษาค้นคว้าหายารักษาโรคจากพืชสมุนไพร อาทิ ประเทศญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเยอรมนี เป็นต้น ในขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็มีความสนใจเรื่องนี้เช่นกัน แม้จะเป็นเพียงกิจกรรมขนาดเล็ก ๆ และในวงจำกัดก็ตาม อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาในแง่ของขนาดและทรัพยากรที่มีในประเทศต่างๆ แล้ว สหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นประเทศที่ล้าหลังในด้านการผลิตและการศึกษาวิจัยเพื่อนำสารจากพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์
การประมาณการหรือคาดคะแนนจำนวนของพืชชั้นสูงที่ไม่ในโลกและได้รับการตั้งชื่อแล้วนั้น มักจะแปรปรวนแตกต่างกันกล่าวคือมีตั้งแต่ 250,000 ถึง 750,000 ชนิด คำถามก็คือในจำนวนดังกล่าวนี้มีกี่ชนิดแล้วที่นำมาศึกษาสรรพคุณในทางเป็นยารักษาโรค คำถามนี้ดูจะหาคำตอบไม่ได้เนื่องจากเหตุผลต่อไปนี้ ที่สถาบันโรคมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐ มีการทดสอบพืชจำนวน 35,000 ชนิด เพื่อค้นหาสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งจากพืชเหล่านี้ จากการศึกษาพบว่ามีพืชหลายชนิดที่พบสารดังกล่าว และมีสารกสัดแยกสารออกฤทธิ์มาทำการทดสอบและศึกษาโครงสร้างทางเคมี อย่างไรก็ตามพบว่าสารที่สกัดออกมานี้ ในปัจจุบัน (พ.ศ.2531) พบว่าไม่มีชนิดใดที่จะปลอดภัยและให้ผลดีสำหรับจะให้ผู้ป่วยกินเป็นประจำ เหตุผลอีกข้อก็คือ สารจากพืช 35,000 ชนิดนี้สามารถนำไปใช้กับโรคอย่างอื่นได้หรือไม่ อาทิ โรคความดัน โรคเอดส์ และโรคหัวใจ คำตอบคือมีทางเป็นไปได้แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการทดสอบเสียก่อน
จากสภาพการดังกล่าวทำให้ทราบว่าในทางเป็นจรงแล้วปัจจุบันมีพืชเพียงไม่มากนัก ที่มีการนำไปศึกษาและทดสอบถึงศักยภาพที่จะนำมาใช้เป็นยารักษาโรคกันอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่าบรรดาพรรณพืชที่มีอยู่ในโลกของเรานั้น ขณะนี้ (พ.ศ. 2531) ยังไม่มีการนำมาศึกษากันอย่างเป็นระบบ เพื่อจะค้นคว้าหาสารที่มีศักยภาพที่ในทางเป็นยารักษาโรค ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวนี้ดูออกจะตรงข้ามกับกระแสของความสนใจที่คนเราพยายามจะใช้พืชเป็นแหล่งที่มาของยารักษาโรค ซึ่งเริ่มกันมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 นี้แล้ว รวมทั้งความรู้และเทคโนโลยีด้านนี้ที่เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ตามจากข้อมูลในการสำรวจขอฟาร์นเวิธและคณะเมื่อปี พ.ศ. 2528 พบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคถึง 119 อย่าง ที่ได้มาจากพืช 95 ชนิดและสารออกฤทธิ์เหล่านี้มีการศึกษาสรรพคุณกันมาแล้ว สำหรับโครงสร้างทางเคมีที่พบใหม่ของสารจากธรรมชาติที่พบกันจนถึงปี พ.ศ.2528
3. ฐานข้อมูลระดับโลกที่เกี่ยวกับสมุนไพร (NAPRALERT Data Base)
ที่มหาวิทยาลัย University of lllionis ในมลรัฐซิคาโก สหรัฐอเมริกา มีฐานข้อมูลพิเศษทางคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า NAPRALERT Data Base เป็นฐานข้อมูลที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากธรรมชาติทั่วโลก เพื่อใช้เป็นแหล่งที่มาสำหรับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยารักษาโรคต่างๆ ฐานข้อมูล NAPRALERT เกิดจากการวบรวมและตรวจสอบสารทั่วโลกอย่างเป็นระบบ
ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย
ตามที่กล่าวมาครั้งหนึ่งแล้วในบทต้นๆ ว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง การที่สิ่งมีชีวิตมากมายหลายสายพันธุ์ และชนิดในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ความผิดแผกแตกต่างของสิ่งมีชีวินนี้มีทั้ง ความหลากหลายในพันธุกรรม ซึ่งเป็นความผิดแผกแตกต่างในระดับเซลของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน เช่น ข้าวก็มีสายพันธุ์ต่าง ๆ มากมายทั้ง ๆ ที่เป็นข้าวชนิดเดียวกันคือ Oryza satival L. เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ ซึ่งทำให้ป่าดิบชื้นของไทยเรามีไม่ยืนต้นชนิดต่างๆ กว่า 54 ชนิด และความหลากหลายทางระบบนิเวศ ซึ่งหมายถึงสภาพธรรมชาตินั้นมีระบบนิเวศที่แตกต่างกันหลากหลายประเภท เช่น ระบบนิเวศป่าธรรมชาติของประเทศไทยเรา มีป่ากว่าสิบประเภทตั้งแต่ปาชายเลนไปจนถึงป่าสนเขาบนที่สูง เป็นต้น
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ซึ่งมีสภาพเหมาะสำหรับเป็นที่พักอาศัยของพรรณไม้จำนวนมาก รวมทั้งสัตว์นานาชนิดและจุลินทรีย์มากมายมหาศาล เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคในเขตอบอุ่นและเขตหนาว ซึ่งสภาพทั่วไปไม่เอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตจำนวนมากมายหลายชนิดพักอาศัยอยู่ได้ จึงทำให้ภูมิภาคส่วนดังกล่าวมีความหลากหลายทางชีวภาพน้อยกว่าในเขตร้อน
ประมาณกันว่าประเทศไทยมีพรรณพืชอยู่ 15,000 ชนิด หรือ 8% ของพรรณพืชทั้งโลก (พ.ศ. 2535) ขณะที่บางประเทศในยุโรปเหนือ เช่น นอร์เวย์และสวีเดน มีพรรณพืชประมาณ 1,800 ชนิดเท่านั้น (พ.ศ. 2535) และเช่นเดียวกับประเทศไทยมีสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกรวมแล้วประมาณ 1,628 ชนิด (พ.ศ.2536) ในขณะที่ประเทศนอร์เวย์และสวีเดนมี 299 และ 328 ชนิด ตามลำดับ สำหรับท้องทะเลไทยพบว่า มีปลาทะเลประมาณไม่ต่ำกว่า 2,000 ชนิดหรือ 10% ของทั่วโลก (พ.ศ. 2532) หอยประมาณ 2,000 ชนิด (พ.ศ. 2536) สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ รวมกันอีก 11,900 ชนิด ดังนั้นน่านน้ำไทยจึงมีความหลากหลายในทางชนิดพันธุ์ของสัตว์ทะเลสูงมากเมื่อเทียบกับบริเวณอื่นๆในโลก
สถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย
ในบรรดาสิ่งมีชีวิตกว่า 1.5 ล้านชนิดที่มนุษย์รู้จักนั้น มนุษย์ได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตประมาณ 5,000 ชนิดเท่านั้น และในจำนวนนี้มนุษย์รู้จักใช้เป็นอาหารเพียง 150 ชนิด แต่ก็มีเพียงพืช 12 ชนิดและสัตว์อีก 5 ชนิด ที่ถูกใช้เป็นอาหารของมนุษย์ทั่วโลกกว่าร้อยละ 75 ดังนั้น แสดงว่าในโลกนี้ยังมีสิ่งมีชีวิตอีกเป็นจำนวนมหาศาลที่มนุษย์ยังไม่รู้จักและนำมาใช้ประโยชน์ (อำพล เสนาณรงค์, พ.ศ. 2538)
สำหรับประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ซึ่งเป็นปีที่ 1 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 1 จนถึง พ.ศ. 2532 เป็นเวลา 28 ปี ป่าไม้ของชาติได้ลดลงจาก 187 ล้านไร่เหลือเพียง 90 ล้านไร่ เฉลี่ยแล้วเราเสียพื้นที่ป่าโดยเฉลี่ยปีละ 3.5 ล้านไร่ หรือประมาณวันละ 9,491 ไร่ และถ้าอัตราการสูญสิ้นป่ายังเป็นในอัตรานี้ ป่าไม้ของเราก็จะหมดสิ้นและเกิดทะเลทรายเข้าแทนที่ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี ป่าไม้ที่สูญเสียไปนี้ไม่ใช่สูญเสียแต่เฉพาะพืชเท่านั้น แต่เป็นการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพทั้งระบบ ตั้งแต่ระบบนิเวศ ชนิดของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในป่าจากพืชชั้นสูงและสัตว์ใหญ่ลงไปถึงพืชขั้นต่ำและสัตว์เล็ก รวมทั้งจุลินทรีย์ต่างๆ ที่อยู่ในดินในน้ำและในพืชของป่าธรรมชาติเหล่านี้
ในด้านการสำรวจและศึกษาสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยยกตัวอย่างแต่เฉพาะพรรณไม้อย่างเดียวเท่านั้น ประมาณกันว่าในประเทศไทยมีพรรณพืชที่มีท่อลำเลียงประมาณ 10,000 ชนิด แต่ในการดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 จนถึงปัจจุบันนักวิชาการเพิ่งจะได้ทำการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะและคุณสมบัติต่าง ๆ ไปแล้วประมาณ 200 ชนิดเท่านั้น ดังนั้นหากทำงานได้ในอัตรานี้แล้วคงจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 50 ปีจึงจะเสร็จภารกิจดังกล่าว
นอกจากป่าไม้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของประเทศไทยแล้วระบบนิเวศอื่นๆ เช่น ทะเล ทะเลสาบ หนอง บึง ลำน้ำต่างๆ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและทำลายระบบนิเวศในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็วและรุนแรงเช่นเดียวกัน เช่น การใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมและการประมง การก่อสร้างเขื่อน ฝาย และอาคารที่อยู่อาศัย รวมทั้งการเกิดมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนใหญ่ ๆ เป็นต้น การสูญเสียและเสื่อมโทรมของระบบนิเวศดังกล่าวนี้ ทำให้ทรัพยากรชีวภาพและความหลากหลายทางชีวภาพลดลงอย่างรวดเร็วจนอยู่ในขั้นวิกฤตในหลายพื้นที่ ดังนั้น มาตรการที่เร่งด่วนและสำคัญที่สุดที่เผชิญหน้าคนไทยอยู่ในทุกวันนี้ ได้แก่ การหาวิธียับยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพให้ได้ก่อนมาตรการอื่น ๆ
ปัจจุบันบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้มีมาตรการในด้านต่างๆ เพื่อยับยั้งการทำลาย รวมทั้งการอนุรักษ์ธรรมชาติหลายประเทศแต่ก็ค่อนข้างจะสายเกินไป ขณะเดียวกันประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้ก็เป็นห่วงทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายชีวภาพ ของภูมิภาคในเขตร้อนโดยเฉพาะป่าเขตร้อนชื้น ซึ่งจะมีประโยชน์ไม่เฉพาะกับประเทศผู้เป็นเจ้าของป่าเหล่าเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์และมีมูลค่ามหาศาลแก่มวลมนุษย์ทั้งโลก และเนื่องจากมาตรการการใช้กำลังบีบบังคับหรือเข้ายึดครองเป็นอาณานิคม ไม่อาจจะกระทำได้เหมือนในอดีต ปัจจุบันประเทศที่พัฒนาจึงต้องใช้มาตรการบีบบังคับหรือลงโทษโดยอาศัยมติจากองค์การสหประชาชาติหรือมติของประชาคมยุโรป เช่น มติของสหประชาชาติห้ามทุกประเทศนำไม้ซุงออกจากป่าประเทศกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. 2536 การณรงค์ของประชาคมยุโรปให้ลดการใช้ไม้ป่าเขตร้อนชื้นของประเทศกลุ่มอาเซี่ยนในปีเดียวกัน ตลอดจนการสนับสนุนการประชุมต่างๆ ของสหประชาชาติ เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การประชุมครั้งสำคัญเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention of Biological Diversity) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2534 ที่กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งปัจจุบันมีประเทศต่างๆ ประมาณ 157 ประเทศ ได้ลงนามเห็นชอบสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการประชุมนี้แล้ว ซึ่งรวมทั้งประเทศด้วย และกำลังดำเนินมาตรการที่จะให้สัตยาบันสนธิสัญญานี้ในโอกาสต่อไป
เขตชีวภูมิศาสตร์ (Biogeography) กับความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ
1. ประเภทของเขตชีวภูมิศาสตร์ใหญ่ ๆ ในประเทศไทย
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตชีวภูมิศาสตร์ (Biogeography) อินโดมาลายัน (Indo Malayan Realm) โดยที่ทางตอนเหนือของประเทศอยู่ในเขตอนุภูมิภาคอินโดจีน (Indo-Chinese Sub-Region) ทางใต้อยู่ในเขตอนุภูมิภาคซุนดา (Sundiac Sub-Region) แต่พืชและสัตว์จะได้รับอิทธิพลบางส่วนจากเขตอินเดีย (Indian region) และพาลีอาร์คติก (Palearctic region) ด้วยโดยแบ่งออกเป็น 6 เขตชีวภูมิศาสตร์ใหญ่ๆ ซึ่งเขตชีวภูมิศาสตร์เหล่านี้เป็นตัวจำกัดขอบเขตของท้องถิ่นและชนิดพันธุ์ประจำถิ่นดังนี้ (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, พ.ศ. 2539)
1) เขตที่สูงภาคเหนือ (The Northern Higland) เป็นที่ล้อมรอบด้วยแนวเขาและหุบเขากว้าง ๆ ลงมาตอนใต้ จากแนวชายแดนพม่าและลาวประมาณละติจูดที่ 18 องศาเหนือสภาพโดยทั่วไปเป็นภูเขาที่มีระดับความสูงมากกว่า 1,000 เมตร ทำให้เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพรรณไม้ป่าดิบเขา (evergreen moutane forests) บริเวณที่มีลาดชันน้อย จะพบป่าผสมผลัดใบ (mixed deciduous forest) เขตมรสุมและพบป่าเต็งรัง (dry dipterocarp forests) ในบริเวณที่ราบหุบเขา ซึ่งปัจจุบันถูกเปลี่ยนแปลงไปเพื่อทำการเกษตรที่สูง
2) เขตที่ราบสูงโคราช (The Korat Plateau) เป็นพื้นที่ครอบคลุมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงระหว่างเพชรบูรณ์ทางตะวันตกและเทือกเขาดวงรักทางตอนใต้ ทอดตามแนวยาวชายแดนกัมพูชา ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าถูกทำลายอย่างกว้างขวาง แต่ยังคงมีค่าป่าดิบชื้น (tropicalrain forests) และป่าดิบแล้ง (dry evergreen forests) เหลืออยู่ในบริเวณนี้บางส่วน
3) เขตที่ราบภาคกลางของแม่น้ำเจ้าพระยา (The Central Plain of the Chao Phra-ya River) ปัจจุบันเป็นพื้นที่มีการทำนาข้าวอย่างกว้างขวาง บึงน้ำจืดดั้งเดิม (primary freshwater swamps) และป่ามรสุม (monsoon forests) ได้หมดไปแล้ว
4) เขตที่สูงตะวันออกเฉียงเหนือ (The Southeast Upland) คือพื้นที่ต่อเนื่องมาจากภูเขาชายแดนแถบเทือกเขาพนมกระวานในกัมพูชา ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวยต่อสังคมป่ากึ่งดิบชื้น (semi-evergreen forests) เขตร้อน
5) เขตเทือกเขาตะนาวศรี (The Tenasserim Hills) เป็นพื้นที่ทอดแนวไปทางใต้ตามแนวชายแดนประเทศพม่า มีความสูงชันจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตร แต่เทือกเขานี้จะอยู่ภายใต้เขตเงาฝนของเทือกเขาเดียวกันในประเทศพม่าที่สูงกว่า บนเทือกเขานี้ป่ากึ่งดิบชื้นเขตร้อนเกิดขึ้นบนพื้นที่ที่มีระดับความสูง บริเวณที่ลาดชันปกคลุมด้วยป่าผลัดใบ ซึ่งปัจจุบันได้ถูกถางออกหรือบุกรุกทำลายจนเสื่อมโทรมและแทนที่ด้วยไผ่และทุ่งหญ้า
6) เขตคาบสมุทรตอนใต้ (The Southern) เป็นเขตครอบคลุมพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่คอคอดกระ (Kra isthumas) จนถึงชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่คอคอดกระนี้แยกชนิดพันธุ์พืชและสัตว์กลุ่มอินโดจีนออกจากกลุ่มคาบสมุทรมาเลเซียอย่างชัดเจน เดิมคาบสมุทรตอนใต้เป็นพื้นที่ที่มีฝนตกซุกและครอบคลุมด้วยป่าดิบชื้น แต่ป่าที่ลุ่มต่ำเกือบทั้งหมดได้ถูกนำไปใช้เป็นพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ป่าที่เหลือยังคงมีแนวเขตป่าตามเนินเขา แต่ถูกคุกคามโดยการบุกรุกทำไร่และปลูกยางพารา
ความแตกต่างในระบบนิเวศดังกล่าวทำให้ชนิดพันธุ์พืชและสัตว์มีความหลากหลายต่างกัน ดังนั้นชนิดพันธุ์นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนที่สูงภาคเหนือจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชนิดพันธุ์ในประเทศจีนและยังพบว่ามีสัตว์จำนวนมากที่ไม่พลในที่อื่นใดอีกนอกจากบริเวณนี้ ส่วนทางคาบสมุทรตอนใต้จะเป็นแหล่งรวมชนิดพันธุ์ทั้งนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความสัมพันธ์กับชนิดพันธุ์ในเขตซุนดา
2. การแบ่งกลุ่มสิ่งมีชีวิตของประเทศไทย
ขณะนี้ก็ยังเป็นที่ยอมรับกันอยู่ว่ามนุษย์เรายังมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราเองน้อยมากและปัจจุบันก็ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดมีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องที่สุดในอันที่จะสามารถประมาณได้ว่าสิ่งมีชีวิตในโลกนี้จำนวนเท่าใดแน่ ดังนั้น จึงได้แต่คาดกันว่าน่าจะมี 2 ล้าน 10 ล้าน หรือ 100 ล้าน ชนิดขึ้นไป
อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้บรรดาสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ ส่วนหนึ่งที่มนุษย์ได้รู้จักและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แล้วมีประมาณ 1.5 ล้านชนิด โดยอาจจะแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามลักษณะสำคัญ
3. ความหลากหลายของทรัพยากรพันธุ์พืชของประเทศไทย
ความหลากหายของทรัพยากรพันธุ์พืช หมายถึง พืชนานาชนิดที่ขึ้นอยู่ทั่วไป โดยที่มีความหลากหลายทั้งระบบนิเวศหรือถิ่นที่พืชขึ้นอยู่ (ecosystem/habitat diversity) อันได้แก่สภาพป่าชนิดต่างๆ ความหลากหลายของชนิดพรรณ (species diversity) ซึ่งได้แก่ จำนวนชนิดพรรณพืชที่มีอยู่ในแต่ละแห่ง และความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity) ซึ่งได้แก่ความแตกต่างทางสายพันธ์ของพืชในแต่ละชนิด เช่น สายพันธุ์ต่างๆ ของข้าว ลำไย ทุเรียน หรือไม้สัก ฯลฯ เป็นต้น
ความสำคัญของความหลากหลายทางทรัพยากรพันธุ์พืช
เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วแล้วว่าทรัพยากรพันธุ์พืชคือ แหล่งของปัจจัยที่สี่ที่สำคัญของมวลมนุษย์ชาติทั่วโลก มนุษย์จำเป็นต้องอาศัยพืชเพื่อเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคและที่อยู่อาศัย ดังนั้น ทรัพยากรพันธุ์พืชจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งด้านเกษตรกรรมและป่าไม้ ด้านอุตสาหกรรมและด้านสิ่งแวดล้อม ความสำคัญทางด้านเกษตรกรรม ได้แก่ การอาศัยสายพันธุ์ที่ดีให้ผลผลิตสูง รูปทรงดี มีรสชาติดี มีความต้านทานโรคแมลงและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ฯลฯ ในด้านอุตสาหกรรมก็ได้แก่ การนำสารจากพืช ทั้งยาง เส้นใย เนื้อไม้จากพืชต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ เช่น เป็นวัตถุดิบในการผลิตทางการแพทย์ การใช้พืชสมุนไพรเป็นยารักษาโรคโดยตรง หรือสกัดสารเคมีต่างๆ จากพืชนานาชนิดไปเป็นยา สำหรับในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ทรัพยากรพันธุ์พืชช่วยควบคุมสภาวะแวดล้อมของท้องถิ่นและของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการดูดซับแกสคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อบรรเทาปัญหาโลกร้อน (Global warming)
พืชของไทยที่มีศักยภาพในการปรับปรุงพันธุ์
พืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันมักจะเป็นพืชปลูก หรือเรียกอีกอย่างว่าพืชเลี้ยง ซึ่งจะได้รับการปรับปรุงพันธุ์หรือคัดเลือกพันธุ์มาแล้ว สำหรับพืชที่มีศักยภาพในการปรับปรุงพันธุ์นั้น ในที่นี้จะเน้นถึงพืชพื้นเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชป่า (wild plants) ที่มีอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจที่จะสำรวจและศึกษา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรอย่างแท้จริง

วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความก้าวหน้าของการสำรวจอวกาศ

ความก้าวหน้าของการสำรวจอวกาศ

ยุคอวกาศเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2500 ประเทศสหภาพโซเวียต ส่งดาวเทียมดวงแรกของโลก ชื่อ สปุตนิก 1 ขึ้นไปโคจรรอบ โลกได้ส่งขอมูลเกี่ยวกับความหนาแน่นและอุณหภูมิบรรยากาศ ชั้นสูงกลับมายังโลก
อุปกรณ์ที่ใช้สำรวจอวกาศได้แก่ ดาวเทียม ยานอวกาศ สถานีอวกาศ ในปัจจุบันการส่งอุปกรณ์ต่างๆขึ้นไปสำรวจ อวกาศได้รับการพัฒนามาใช้เป็นยานขนส่งอวกาศแทนจรวจ เพื่อทำหน้าที่นำ ดาวเทียม ยานอวกาศ สถานีอวกาศและ อุปกรณ์อื่นๆ ขึ้นไปปฏิบัติงานและเก็บดาวเทียมที่หมดอายุแล้ว นำมาแก้ไขซ่อมแซมหรือนำกลับมาสู่โลกเพื่อปรับปรุงแล้วนำ กลับไปใช้ใหม่ได้อีกเป็นการคำนึงถึงความประหยัด
ยานอวกาศ
ยานอวกาศ หมายถึง ยานที่ออกไปนอกโลกโดยมีอุปกรณ์สำหรับการสำรวจออกไปที่ไกลจากโลกมากๆมีหรือไม่มีมนุษย์ควบคุมก็ได้
ยานอวกาศที่ออกไปสำรวจดาวเคราะห์และดวงจันทร์มีดังนี้
ไพออเนียร์ 5
เมื่อปี 2501 สำรวจ โลก ดาวศุกร์ เรื่อง แถบรังสีและลมสุริยะ
เรนเจอร์
เมื่อปี 2504 สำรวจ ดวงจันทร์ เรื่อง ถ่ายรูปพื้นผิวดวงจันทร์
เซอร์เวย์เออร์
เมื่อปี 2504 สำรวจ ดวงจันทร์ เรื่อง ลงดวงจันทร์โดยไม่มีมนุษย์เป็นลำแรก
มาริเนอร์ 2
เมื่อปี 2505 สำรวจ ดาวศุกร์ เรื่องอุณหภูมิ สนามแม่เหล็ก บรรยากาศ
มาริเนอร์ 4
เมื่อปี 2508 สำรวจ ดาวอังคารเรื่อง ถ่ายภาพ อุณหภูมิ บรรยากาศ
มาริเนอร์ 5
เมื่อปี 2510 สำรวจ ดาวศุกร์ เรื่อง ถ่ายภาพ อุณหภูมิ บรรยากาศ
วีนัส 4
เมื่อปี 2510 สำรวจ ดาวศุกร์ ลงสู่พื้นดาวศุกร์โดยไม่มีมนุษย์
อะพอลโล 11
เมื่อปี 2512 สำรวจ ดวงจันทร์ เรื่อง ยานอวกาศลำแรกลงดวงจันทร์
ไพออเนียร์ F
เมื่อปี 2513 สำรวจ ดาวพฤหัสบดี โดย ถ่ายภาพ อุณหภูมิ บรรยากาศแรงโน้มถ่วง
ไพออเนียร์ G
เมื่อปี 2517 สำรวจ ดาวพฤหัสบดี โดย ถ่ายภาพ อุณหภูมิ บรรยากาศแรงโน้มถ่วง
ไวกิ้ง 1, 2 ปี 2519 ดาวอังคาร สำรวจสิ่งมีชีวิต อุณหภูมิ บรรยากาศ ความสั่นสะเทือน พื้นผิวและสนามแม่เหล็ก
สถานีอวกาศ
สถานีอวกาศ คือ ดาวเทียมชนิดหนึ่ง ซึ่งนำนักบิน อวกาศไปโคจรรอบโลกหรือศึกษาและสำรวจสิ่งต่างๆที่อยู่นอกโลก
หอวิจัยลอยฟ้าหรือสกายแล็บสร้างขึ้น โดยสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้เป็นศูนย์วิจัยค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ขนาดของ หอวิจัยลอยฟ้าก็พอ ๆกับบ้านหลังหนึ่ง และได้ตกลงสู่พื้นผิวโลกเมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2522
สถานีอวกาศที่ส่งขึ้นไปแล้ว
สถานีอวกาศที่เราส่งขึ้นไปแล้วในอวกาศทั้งหมด 9 สถานี ทุกสถานีมีคนขึ้นไปอยู่ยกเว้น ซัลยุต 2 เพียงแห่งเดียว
เมียร์ เป็นสถานีที่ส่งขึ้นไปล่าสุด และเป็นผู้ทำสถิติที่นักบินชุดเดียวอยู่ในสถานีอย่างต่อเนื่องนานที่สุดโดยนานถึง 1 ปี
สถานีเมียร์ ยังคงโคจรอยู่รอบโลก แต่สถานีอื่นก่อนหน้านั้นได้ตกลงสู่ชั้นบรรยากาศและไหม้หมดแล้ว
ซัลยุต 1 รัสเซีย ส่ง 4/2514 กลับ 10/2514 นักบิน1 ชุดอยู่ทำงาน หอวิจัยลอยฟ้า สหรัฐ ส่ง 5/2516 กลับ 7/2522 นักบิน 3 ชุด ชุดละ3คน ซัลยุต 2 รัสเซีย ส่ง 4/2516 กลับ 5/2516 ไม่มีนักบินอยู่เลย ซัลยุต 3 รัสเซีย ส่ง 6/2517 กลับ 1/2518 นักบิน 1 ชุด ซัลยุต 4 รัสเซีย ส่ง 12/2517 กลับ 2/2520 นักบินย 2ชุดอยู่รวมกันได้ 93 วัน ซัลยุต 5 รัสเซีย ส่ง 6/2519 กลับ 8/2520 นักบิน 2 ชุด
ซัลยุต 6 รัสเซีย ส่ง 9/2520 กลับ 7/2525 นักบิน 16 ชุด 33 คน นานที่สุด185 วัน รวมจำนวนวันที่มีนักบินอวกาศอยู่ 676 วัน
ซัลยุต 7 รัสเซีย ส่ง 4/2525 กลับ 2/2534 นักบิน 9 ชุดนานสุด 237 วัน
เมียร์ รัสเซีย ส่ง 2/2529กลับ - นักบินอยู่เกือบตลอดเวลา
ประวัติการสำรวจอวกาศ
ปีพ.ศ.2500 - สปุตนิก 1 (รัสเซีย) ดาวเทียมดวงแรกของโลก
ปีพ.ศ.2501 - เอกซ์พลอเรอร์1 ดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐ
ปีพ.ศ.2503 - ไทรอส1 (สหรัฐ) ดาวเทียมตรวจอากาศดวงแรก
- ทรานซิส1 บี (สหรัฐ) ดาวเทียมนำร่องดวงแรก
- ไมตาส2 (สหรัฐ) ดาวเทียมเตือนภัยจากขีปนาวุธดวงแรก
ปีพ.ศ.2504 - วอสตอก1 (รัสเซีย) และยูริกาการินนักบินอวกาศดวงแรก
ปีพ.ศ.2505 - เทลสตาร์1 (สหรัฐ)
ปีพ.ศ.2506 - วอสตอก6 (รัสเซีย) วาเลนตินา เทเรชโกวา นักบินอวกาศหญิงคนแรก
ปีพ.ศ.2507 - ซินคอม3(สหรัฐ)ดาวเทียมสื่อสารดวงแรที่โคจรนิ่งเทียบกับโลก ถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิกจากโตเกียว
ปีพ.ศ.2508 - วอชกอด2 (รัสเซีย) อเลกไซ ลีโอนอฟ เดินในอวกาศเป็นคนแรก
ปีพ.ศ.2509 - เจมิไน8 (สหรัฐ) ยานอวกาศเทียบติดกันครั้งแรก
ปีพ.ศ.2512 - อะพอลโล11 (สหรัฐ) นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์
ปีพ.ศ.2514 - ซัลยุต1(รัสเซีย) สถานีอวกาศแห่งแรก
ปีพ.ศ.2515 - แลนด์แซต1 (สหรัฐ) ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรก
ปีพ.ศ.2516 - หอวิจัยลอยฟ้า สถานีอวกาศแห่งแรกของสหรัฐ
ปีพ.ศ.2518 - ยานโซยุสของรัสเซียและอะพอลโลของสหรัฐเทียบติดกันในวงโคจร
ปีพ.ศ.2521 - การเทียบยาน 3 ลำครั้งแรก(รัสเซีย)โซยุส26,27, ซัลยุส6
- โปรเกรสส์1 ยานลำเลียงเสบียงลำแรกไปยังสถานีอวกาศ
- การเติมเชื้อเพลิงครั้งแรกในอวกาศ
ปีพ.ศ.2524 - โคลัมเบีย(สหรัฐ) ยานขนส่งอวกาศลำแรก
ปีพ.ศ.2525 - ซัลยุส 7
- ดาวเทียม 2 ดวงส่งออกจากยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย
ปีพ.ศ.2526 - ห้องปฎิบัติการอวกาศ นำไปครั้งแรกในยานขนส่งอวกาศ
ปีพ.ศ.2527 - การซ่อมดาวเทียมครั้งแรกในอวกาศ
ปีพ.ศ.2529 - ยานขนส่งอวกาศและแชลเลนเจอร์ระเบิด
- สถานีอวกาศ เมียร์ขึ้นสู่อวกาศ
ปีพ.ศ.2530 - ควานท์ ห้องเพิ่มเติมเข้าต่อกับสถานีอวกาศเมียร์เป็นครั้งแรก
ปีพ.ศ.2531 - บุรัน ยานขนส่งอวกาศลำแรกของรัสเซีย
ปีพ.ศ.2532 - ควานท์ 2 ห้องเพิ่มเติมเข้าต่อกับสถานี เมียร์
ปีพ.ศ.2533 - กล้องโทรทรรศน์อวกาศ
- ห้องเพิ่มเติม คริสตอลล์ เข้าต่อกับเมียร์
เริ่มตั้งแต่มีการสร้างกล้องโทรทรรศน์เพื่อใช้ในการส่องดูวัตถุต่างๆในท้องฟ้าเริ่มมีโครงการการสำรวจอวกาศเมื่อโซเวียตส่งยานสปุตนิก1ขึ้นไปโคจรรอบโลกแล้วต่อมาหรัฐอเมริการได้ส่งดาวเทียมขึ้นทำให้เกิดการแข่งขันกันทางด้านอวกาศองค์การนาซ่า เป็นองค์การที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา สำนักงานใหญ่อยูที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีโปรแกรมต่างๆที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะสำหรับการสำรวจอวกาศ
การสำรวจดาวอังคาร
พ.ศ. 2148 โจฮันเนส เคปเลอร์ สำรวจวงโคจรของดาวอังคาร และพบว่ามีวงโคจรเป็นรูปวงรี
พ.ศ. 2179 เป็นครั้งแรกที่มีการร่างภาพพื้นผิวดาวอังคาร
พ.ศ. 2199-2202 มีการสังเกตพื้นผิวดาวอังคาร และพบว่าการโคจร 1 รอบใช้เวลา 24 ชั่วโมง
พ.ศ. 2209 คาสสินี วัดวงโคจรได้ 24 ชั่วโมง 40 นาที
พ.ศ. 2247-2320 วิลเลียม เฮอร์สเคล พบว่าขั้วของดาวอังคารเป็นชั้นหนาของน้ำแข็ง
พ.ศ. 2437 เพอร์ซิวอล โลเลลล์ สร้างหอดูดาว Flagstsff ที่อาริโซนา สหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ สังเกตดาวอังคารเป็นหลัก ทำให้สามารถผลิตแผนที่พื้นผิวดาวอังคารเพิ่มเติมได้
พ.ศ. 2508 ยานมารีเนอร์ 4 ส่งภาพพื้นผิวดาวอังคารกลับโลก 21 ภาพ
พ.ศ. 2514-2515 ยานมารีเนอร์ 9 ส่งภาพพื้นผิวดาวอังคารกลับโลก 7,329 ภาพ
พ.ศ. 2519 ยานไวกิ้ง 1 ลงดาวอังคารเมื่อ 20 กรกฎาคม ตามด้วยยานไวกิ้ง 2 เมื่อ 3 กันยายน ยานไวกิ้งได้ถ่ายภาพพื้นผิวดาวอังคารจำนวนมากและยังค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตด้วย
พ.ศ. 2540 ยานแพทไฟเดอร์ลงสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร
การสำรวจดวงจันทร์
ในปี คศ.1961 ประธานาธิบดี John F. Kennedy ประกาศต่อสาธารนะชนว่า สหรัฐฯ จะไปเหยียบดวงจันทร์ก่อนสิ้นปี คศ.1970 ให้ได้ โครงการอวกาศของนาซ่าที่ชื่อว่า Apollo จึงเกิดขึ้นต่อเนื่องกับโครงการ Gemini ที่ส่งนักบินอวกาศขึ้นไปโคจรรอบโลกเท่านั้น
จุดเริ่มต้นของโครงการอะพอลโล่ เริ่มต้นไม่ค่อยสวยนัก เมื่อยานอะพอลโล่ 1 เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ห้องบังคับการระหว่างการซ้อมที่ภาคพื้นดิน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 1967 ทำให้นักบินอวกาศ 3 คน คือ Roger Chaffee ,Virgil Grisson และ Edward White เสียชีวิต นาซ่าจึงหยุดการส่งยานที่มีคนบังคับชั่วคราว โดยมีเพียงยานอะพอลโล่ 4,5 และ 6 ที่ไม่มีคนบังคับเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของจรวด Saturn ต่อจากนั้นนาซ่าก็เริ่มส่งอะพอลโล่ 7 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 1968 ตามด้วย อะพอลโล่ 8,9 และ 10 ซึ่งมีมนุษย์บังคับ ขึ้นไปทดสอบการเดินไปยังดวงจันทร์แต่ยังไม่มีการลงดวงจันทร์
อะพอลโล่ 11 นับว่าเป็นโครงการอวกาศของนาซ่าที่ประสพผลสำเร็จมากที่สุด เมื่อสามารถส่งมนุษย์อวกาศลงไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 1969 ต่อจากนั้นก็มีอะพอลโล่ 12-17 ที่ลงไปเหยียบดวงจันทร์ แต่อะพอลโล่ 13 ไม่ได้ไปเหยียบดวงจันทร์ เพราะเกิดอุบัติระหว่างการเดินทางไปดวงจันทร์ ทำให้ต้องรีบเดินทางกลับโลกก่อน ในอะพอลโล่ 15 มีการนำรถที่ชื่อว่า Lunar Rover ขึ้นไปใช้บนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ทำให้การสำรวจดวงจันทร์ครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น อะพอลโล่ลำสุดท้ายคืออะพอลโล่ 17 เมื่อเดือนธันวาคม 1972 รวมอะพอลโล่ทั้งหมด 6 ลำที่ลงไปเหยียบดวงจันทร์ นำหินดวงจันทร์กลับโลกมาทั้งสิ้น 380 กิโลกรัม และการทดลองสำคัญๆต่างๆมากมาย
ความก้าวหน้าของการสำรวจอวกาศ
ยุคก่อนอวกาศ ในอดีตมนุษย์มีความเข้าใจว่า ท้องฟ้าและอวกาศ เป็นสถานที่ลึกลับ การเกิดลม ฝน พายุ หรือสายฟ้าเกิดจากการบันดาลของเทพเจ้า ต่อมาเมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น มนุษย์เริ่มสำรวจหาข้อเท็จจริง โดยการสำรวจในช่วงแรกยังคงเป็นการใช้กล้องโทรทรรศน์ ส่องดูวัตถุต่างๆ บนท้องฟ้า และใช้จานรับคลื่นวิทยุจากดวงดาวต่างๆ ยุคอวกาศเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการพัฒนาและเฟื่องฟูมีการศึกษาอวกาศมากขึ้น มีการประดิษฐ์ยานอวกาศเพื่อส่งไปสำรวจห้วงอวกาศ เริ่มจากสหภาพโซเวียตส่งดาวเทียมดวงแรกชื่อ สปุตนิก 1 ขึ้นสู่อวกาศเมื่อ พ.ศ. 2500 ต่อมามีอีกหลายประเทศต่างเริ่มตั้งโครงการสำรวจอวกาศ โดยส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบโลก รวมทั้งการส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวเคราะห์ต่างๆ
ประโยชน์ขอิงเทคโนโลยี
ปัจจุบันสิ่งประดิษฐ์ที่อาศัยความรู้ทางด้านเทคโนโลยีอวกาศมีมากมายหลายชิ้น
โดยเฉพาะการสร้างดาวเทียมประเภทต่าง ๆ ขึ้นเพื่อมาช่วยอำนวยประโยชน์
ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในหลายๆ ด้าน
1. การสื่อสาร
ดาวเทียมสื่อสาร เป็นดาวเทียมที่ทำหน้าที่เป็นสถานีรับคลื่นวิทยุเพื่อการสื่อสาร
และโทรคมนาคม ทั้งที่เป็นการสื่อสารภายในประเทศและระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่ใช้สำหรับกิจการโทรศัพท์ โทรเลข โทรสาร รวมทั้งการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์และสัญญาณวิทยุ
2. การพยากรณ์อากาศ
ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ทำหน้าที่ส่งสัญญาณภาพถ่ายทางอากาศที่ประกอบด้วยข้อมูลทางอุตอนิยมวิทยา เช่น จำนวนและชนิดของเมฆ ความแปรปรวนของอากาศ ความเร็วลม ความชื้น อุณหภูมิ
3. การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ
ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ เป็นดาวเทียมที่ถูกใช้เป็นสถานีเคลื่อนที่สำรวจดูพื้นผิวโลกและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ทราบข้อมูลทั้งทางด้านธรณีวิทยา นิเวศวิทยา เป็นประโยชน์ด้านการเกษตรและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ